จากบทความ คนไทยกับพัฒนาการด้านทักษะทางการเงิน โดย บุญธิดา เสงี่ยมเนตร ผู้วิเคราะห์อาวุโส (Senior Data Analyst) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกเล่าประเด็นเรื่อง ทักษะการเงินของคนไทยไว้อย่างน่าสนใจ
บางช่วงบางตอน ระบุว่า จากการสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทย โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยมีคะแนนทัศนคติทางการเงินที่ดี แต่ยังคงด้อยในด้านความรู้ทางการเงิน
เมื่อพิจารณาในแต่ละองค์ประกอบของทักษะทางการเงินของคนไทย จะพบว่า คะแนนทักษะทางการเงินในแต่ละด้านมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยด้านที่คนไทยทำคะแนนได้ดีที่สุดคือ ทัศนคติทางการเงิน ส่วนด้านที่ทำคะแนนได้น้อยที่สุด คือ ความรู้ทางการเงิน
จากการสำรวจพบว่ามี 3 สิ่งเรื่องเงินที่คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ได้แก่
1.วิธีคำนวณดอกเบี้ยและเงินฝากทบต้น
2.วิธีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
3.ความเข้าใจและการตระหนักในมูลค่าของเงินตามกาลเวลา
โดย 3 สิ่งนี้นับเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อการวางแผนและการตัดสินใจทางการเงินส่วนบุคคลและครัวเรือน
ในการสำรวจยังพบว่า คนไทยยังคงด้อยในเรื่องการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนการเลือกซื้อ/ใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
พบคนส่วนใหญ่ รู้เรื่องเงินจากความผิดพลาด
โดยงานวิจัยในต่างประเทศของ Hilgert et al. (2003) พบว่า คนส่วนใหญ่เรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาดทางการเงินของตนเอง โดย Agarwal et al. (2007) พบว่า ความผิดพลาดในการตัดสินใจทางการเงิน (financial mistakes) ของคนจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น และจะเริ่มกลับมาตัดสินใจผิดพลาดมากขึ้นเมื่อเลยวัย 50 ปีไปแล้ว เป็นลักษณะ U shape pattern การเรียนรู้จากประสบการณ์ (learning by doing) จะสามารถช่วยให้คนมีโอกาสตัดสินทางการเงินได้ดีขึ้น แต่การพึ่งกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์เพียงอย่างเดียวอาจใช้ไม่ได้กับทุกกลุ่ม Campbell et al. (2010)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีความรู้ทางการเงินน้อย รวมถึงกลุ่มที่มีโอกาสจำกัดในการลองผิดลองถูก แล้วรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมทักษะทางการเงินเพื่อลดโอกาสการก่อ financial mistakes ให้แก่ประชาชนได้อย่างไร
สำหรับสิ่งแรกๆที่คนมักถึงนึกเมื่อต้องพูดถึงการยกระดับทักษะทางการเงินคือ การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมทางการเงิน (financial education) แต่จากงานวิจัยที่ผ่านมา ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้แน่ชัดถึงผลของการฝึกอบรมที่มีต่อทักษะทางการเงินและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นทางเศรษฐศาสตร์
เนื่องจากผลสัมฤทธิ์ของการฝึกอบรมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งรูปแบบหลักสูตร วิธีการสื่อสาร ระยะเวลา และบุคลากรผู้สอน นอกจากนั้น ผู้บริโภคยังมีความหลากหลาย ยากที่จะใช้โปรแกรมที่มีลักษณะ one size fit all อีกทั้งต้นทุนของการฝึกอบรมค่อนข้างสูง
รัฐต้องสนับสนุน ส่งเสริม ทั้งการลงทุนในด้าน financial education
ผู้วิเคราะห์อาวุโส (Senior Data Analyst) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปิดท้ายว่า ท้ายที่สุด จุดหมายปลายทางหลัก ที่อยากเห็นไม่ใช่เพียงแค่อยากให้คนไทยมีระดับทักษะทางการเงินที่ดีขึ้น แต่อยากเห็นคนในสังคมมีสุขภาพทางการเงินและภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ซึ่งผู้ดำเนินนโยบาย ต้องช่วยสนับสนุน ส่งเสริม ทั้งการลงทุนในด้าน financial education แก่ประชาชน
อยากเห็นคนในสังคมมีสุขภาพทางการเงินและภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นด้วย การกระตุ้นให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ คงไม่สามารถอาศัยแค่กลไกใดกลไกหนึ่งเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องอาศัยแรงผลักจากหลายทางร่วมกัน ผู้ดำเนินนโยบายเองก็ต้องช่วยสนับสนุน ส่งเสริม ทั้งการลงทุนในด้าน financial education ในรูปแบบเหมาะสม
บุญธิดา เสงี่ยมเนตร ผู้วิเคราะห์อาวุโส (Senior Data Analyst) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่มา : บทความ คนไทยกับพัฒนาการด้านทักษะทางการเงิน