ฟ้องร้องบอร์ด กสทช. สะท้อนการล่มสลายขององค์กร

14 กันยายน 2566 - 02:45

economy-nbtc-secretary-thailand-oppose-worldcup-football-SPACEBAR-Hero
  • จุดเริ่มเหตุการณ์จัดสรรให้มีการถ่ายทอดแข่งขันฟุตบอลโลก นำไปสู่มติเรียกเงินคืน

  • ความเห็นต่างเกิดขึ้น จนเกิดการฟ้องร้อง สะเทือนถึงเก้าอี้เลขาธิการฯ หยุดชะงัก

ดูเหมือนความสงบในซอยสายลมจะยังมาไม่ถึง เมื่อล่าสุดไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการและรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นโจทก์ฟ้อง กรรมการกสทช. 4 คน คือ พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ เป็นจำเลยที่ 1 พิรงรอง รามสูต เป็นจำเลยที่ 2 ศุภัช ศุภชลาศัย เป็นจำเลยที่ 3 สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ เป็นจำเลยที่ 4 และภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ เป็นจำเลยที่ 5 ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ขอการสนับสนุนงบประมาณถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก ไตรรัตน์ รักษาการ เลขาธิการ กสทช. ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดีลกับกกท. จนได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) บางส่วน  

การจัดสรรให้มีการถ่ายทอดมีคนพิพากษ์วิจารณ์ว่า สื่อของทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการจัดสรรให้ถ่ายทอดการแข่งขันคู่สำคัญ มากกว่าช่องอื่น บอร์ดฝ่ายที่ถูกฟ้อง มองว่า กกท.ทำผิดเงื่อนไข MOU ที่ทำไว้ตอนขอสนับสนุน นำไปสู่มติเรียกเงินคืน และมองว่าการกระทำของ กกท. และพนักงานที่เกี่ยวข้อง อาจเข้าข่ายเป็น การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงสมควรส่งเรื่องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ จนไปถึงความพยายามเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ  

แต่ที่สุดแล้วยังไม่มีการลงนามเปลี่ยนแปลงรักษาการเลขาธิการจากประธานบอร์ด ช่างบังเอิญที่กระบวนการสรรหาเลขาธิการคนใหม่ได้เริ่มขึ้นพอดี ตามมาด้วยความเห็นที่ไม่ตรงกันของบอร์ด กสทช. ในกระบวนการสรรหาเลขาธิการ และยังไม่ได้ข้อสรุปเลขาธิการคนใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนนอก อดไม่ได้ที่จะมองว่า บอร์ดไม่มีเอกภาพ เหมือนจะแบ่งเป็นสองฝ่าย แล้วก็บังเอิญอีกครั้งที่ตรงกับฝั่งที่ถูกร้อง กับฝั่งที่ไม่ถูกร้อง  

การลุกขึ้นมาฟ้องศาลของไตรรัตน์ มองได้ว่าเป็นการปกป้องชื่อเสียง เป็นสิทธิที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม ขณะที่บอร์ดทั้ง 4 ราย ยังคงเชื่อมั่นในการทำงานของตัวเองว่าทำไปตามหน้าที่ ถูกต้องแล้วและสามารถชี้แจงได้ ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าสุดท้ายแล้วเลขาธิการกสทช.จะชื่อ ‘ไตรรัตน์’ หรือไม่  

นี่คือการแสดงจุดยืน ‘ความร้าวลึก’ ที่ยากจะประสาน ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะคดีความ กสทช.ในวันข้างหน้าจะเปลี่ยนไปตลอดกาล ผู้สันทัดกรณีในแวดวงโทรคมนาคมรายหนึ่งมองว่า เรื่องนี้มีผลกับการทำงานของ กสทช.ทั้งฝ่ายสำนักงาน กับบอร์ด และมีผลกับการประสานงานระหว่างผู้อยู่ใต้กำกับดูแลของ กสทช.กับบอร์ด จนอดคิดไม่ได้ว่าความขัดแย้งจะไม่จบง่าย ๆ และจะยุ่งจนไม่ได้ทำงานสำคัญ คือ ผลประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์