‘ธีระชัย’ ถาม ‘พีระพันธุ์’ นโยบายลดภาษีสรรพสามิต เบนซินกลุ่มแก๊สโซฮอล์ เอื้อใคร

1 พฤศจิกายน 2566 - 07:29

economy-oil-thai- excise-tax-gasoline-gasohol-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ลดราคาน้ำมันเบนซินครั้งนี้ ใช้เงินจากภาครัฐเท่าไหร่

  • รัฐบาลจะเอาเงินจากไหน มาลดราคาน้ำมันเบนซิน

  • ใครจะต้องรับผิดชอบ เป็นผู้ควักกระเป๋าใช้คืนหนี้สาธารณะ

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรมว.คลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล โดยได้แสดงความคิดประเด็น การปรับลดภาษีสรรพสามิต สำหรับเบนซินกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ระบุว่า รมว.พลังงานเลือกนโยบายอุ้มนายทุน?

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว. พลังงาน เสนอที่ ประชุม ครม.

1. ปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับเบนซินกลุ่มแก็สโซฮอล์ทุกประเภท 1 บาทต่อลิตร

ณ วันประชุม ครม.นั้น โครงสร้างราคาน้ำมัน ที่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ แต่ละชนิดไม่เท่ากัน เช่น 

-น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E85 จัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพียง 0.9750 บาท 

-น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 5.20 บาท 

-น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E10 ลิตรละ 5.85 บาท

-น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91E10 ลิตรละ 5.85 บาท

มีการเสนอให้ปรับลดการจัดเก็บลงไม่เท่ากัน เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 (ซึ่งน่าจะหมายถึง ทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E10 และแก๊สโซฮอล์91E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E20 จัดเก็บลดลง 80 สตางค์ และ น้ำมันแก็สโซฮอล 95E85 จัดเก็บลดลง 15 สตางค์

2. นายพีระพันธุ์ เผยแพร่ในโซเชียลว่า เดิมได้แจ้ง ครม. จะลดราคานำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 โดยจะปรับลดภาษีสรรพสามิตลงในอัตรา 2.50 บาทต่อลิตร เช่นเดียวกับกรณีของน้ำมันดีเซล

แต่เมื่อลงไปทำงาน กลับพบว่า ไม่สามารถลดอัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะสำหรับนัำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ต่างหาก จึงต้องเปลี่ยนเป็นปรับลดภาษีสรรพสามิต สำหรับนำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ทุกตัว แต่ลดแตกต่างกัน

3. การลดภาษีมีกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566

นายพีระพันธุ์ อ้างผลงานดีเด่น โดยแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชน (ไม่น่าเชื่อว่า ที่ปรึกษาของท่านซึ่งนั่ง บัญชาการอยู่ที่กระทรวงพลังงาน กลับละเลย มิได้ชี้แนะปัญหานี้ต่อท่านไว้ก่อน หรือมิฉะนั้น ท่านก็ขาดการทำการบ้านให้ละเอียด?)

ถามว่า การลดราคาน้ำมันเบนซินครั้งนี้ ใช้เงินจากภาครัฐเท่าไหร่?

ตอบว่า ในบทความในประชาชาติธุรกิจ กรมสรรพสามิตคำนวณว่า กระทรวงการคลังจะสูญเสียภาษีไป เดือนละ 900 ล้านบาท ในห้วงเวลาสามเดือน จะสูญเสียภาษี 2,700 ล้านบาท แต่ผมคำนวณว่า การโยกเปลี่ยนแปลง ไปใช้ชนิดน้ำมันที่ราคาถูกลง จะกระทบต่อรายได้ที่นำส่งกองทุนน้ำมันฯ อย่างมาก

แก๊สโซฮอล์ 95E10 + แก๊สโซฮอล์ 91E10 ขณะนี้ ยอดใช้รวมกัน 80% ของน้ำมันเบนซินทั้งหมด ผมเชื่อว่า คนที่เคยใช้แก๊สโซฮอล์ 95E10 น่าจะโยกมาใช้แก๊สโซฮอล์ 91E10 สูงถึงประมาณ 90% ซึ่งอาจจะทำให้สัดส่วนแก๊สโซฮอล์ 91E10 ขึ้นไปสูงถึง 70% ของน้ำมันเบนซินทั้งหมด และเนื่องจากต่อไป ราคาแก๊สโซฮอล์ 95E20 จะใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 95E10 ด้วย ซึ่งอาจจะมีผู้ที่เคยใช้แก๊สโซฮอล์ 95E20 บางส่วน โยกไปใช้แก๊สโซฮอล์ 95E10 แทนอีกด้วย

การปรับตัวดังกล่าว จะมีผลทำให้รายได้ที่เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ จะหายไปมาก จากโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันประชุม ครม.นั้น น้ำมันแก็สโซฮอล์ 91E10 จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ 2.80 บาท

หากต้องการลดราคาลง 2.50 บาท เงินเก็บเข้ากองทุนใหม่ จะต้องลดลงเหลือ 1.30 บาท (ประเมินตามคำให้สัมภาษณ์ของ รมว.พลังงานในการลดการจัดเก็บลง ลิตรละ 1.50 บาท)

ผมคำนวณตัวเลขโดยประมาณการว่ารายได้จากการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91E10 นั้น จะหายไปลิตรละ 1.50 บาท 

ดังนั้น หากประเมินว่าจะมียอดใช้สูงถึงวันละ 20 ล้านลิตร ในห้วงเวลา 3 เดือน กองทุนฯ น่าจะขาดรายได้ประมาณ 2,700 ล้านบาท

สรุปรวม 2 อย่าง ในห้วงเวลาสามเดือน น่าจะเป็นภาระต่อรัฐและประชาชนในอนาคต 5,400 ล้านบาท

โดยนโยบายนี้ รัฐควักกระเป๋าให้แก่ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ทั้งคนรวยและคน

ถามว่า รัฐบาลจะเอาเงินจากไหน มาลดราคาน้ำมันเบนซินครั้งนี้

ตอบว่า เมื่อรัฐขาดรายได้ภาษี 2,700 ล้านบาท เมื่อปิดหีบงบประมาณไม่ลง

งบประมาณก็จะขาดดุลเพิ่มอีก 2,700 ล้านบาท (เว้นแต่มีการถล่มลดงบประมาณด้านอื่นได้สำเร็จ ซึ่งน่าจะยาก) ดังนั้น รัฐบาลก็จะต้องกู้หนี้สาธารณะเพิ่ม เพื่อมาโปะขาดดุลที่เพิ่มขึ้น จากภาษีสรรพสามิตที่หายไป

ส่วนกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันก็เป็นหนี้มหาศาลอยู่แล้ว เมื่อขาดรายได้ 2,700 ล้านบาท ... กองทุนน้ำมันฯ ก็จะต้องกู้หนี้จากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น หนี้เก่าก็ยังไม่มีปัญญาชำระ หนี้ใหม่ ก็ถาโถมเข้ามาอีก

สรุปแล้ว ภาระต่อรัฐบาล 5,400 ล้านบาทนั้น จะต้องได้มาจากการกู้หนี้สาธารณะ และหนี้กองทุนฯ เพิ่มขึ้น โดยตรงหรือโดยอ้อม

ถามว่า ใครจะต้องรับผิดชอบ เป็นผู้ควักกระเป๋าใช้คืนหนี้สาธารณะ ที่จะเพิ่มขึ้นนี้

ตอบว่า ประชาชนทั้งประเทศจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และเป็นผู้ต้องหาเงินมาใช้คืนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้น ที่นายพีระพันธุ์ เขียนแสดงความยินดีต่อพี่น้องประชาชน แท้ที่จริง ก็คือเอาเงินของประชาชนในอนาคต มาใช้ลดราคาน้ำมันในปัจจุบันเท่านั้นเอง

ถามว่า การทำนโยบายเช่นนี้ เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือไม่

ตอบว่า ถึงแม้การที่รัฐบาลจะกู้หนี้สาธารณะ มาเพื่อลดค่าครองชีพแก่ประชาชน นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าปริมาณการกู้ไม่สูงเกินไป แต่นโยบายเช่นนี้ ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน เพราะไม่มีการแตะต้องโครงสร้างธุรกิจน้ำมันเสียก่อน

  • ไม่มีการป้องกันโรงกลั่นน้ำมันบวกกำไรลาภลอย ตามค่าการกลั่นในตลาดสากล
  • ไม่มีการป้องกันการบวกกำไรในเนื้อน้ำมัน 
  • ไม่แก้ปัญหา เสือนอนกิน 
  • ไม่ทำให้ค่าการตลาดลดลง

รมว.พลังงาน ควัก แต่จากกระเป๋าของประชาชน จากกระเป๋าซ้าย ย้ายไปกระเป๋าขวา

แต่ดูเหมือนเกรงใจ ไม่กล้าควักจากกระเป๋ากลุ่มทุน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และเป็นธรรมแก่ประชาชนมากกว่า

ผมจึงเห็นน่าเสียดาย ขอแนะนำว่า ท่าน รมว.พลังงาน ควรจะทำงานให้ประชาชนสามารถมองเห็นผลงานได้ดีกว่านี้

ท่านควรจะแสดงความกล้าคิดกล้าทำ โดยรื้อโครงสร้างธุรกิจ ให้คืนกำไรให้แก่ประชาชนเหมาะสมเสียก่อน หลังจากนั้น จึงค่อยควักออกจากกระเป๋าของรัฐ อันเป็นภาระต่อประชาชนในอนาคต แทนที่จะนำร่องด้วยนโยบายที่เอื้อแก่นายทุนเป็นหลัก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์