จากเวที Money Forum เสนอรัฐบาลวางกรอบให้ชัดเจน หาทางออกใช้เงิน 10,000 บาทดิจิทัล
กรุงเทพฯ 25 กันยายน 2566 – Spacebar ร่วมกับสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดวงเสวนา Spacebar Money Forum “เงินดิจิทัล 10,000 บาทกับ 5 คำถามที่ต้องเคลียร์”
ความคิดเห็นที่สะท้อนจากมุมมองผู้เกี่ยวข้องที่มาร่วมวงเสวนาในครั้งนี้ มองว่าการใช้เม็ดเงินจำนวนมากเพื่ออัดฉีดและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่หากสามารถนำมาต่อยอดสร้างรากฐาน หรือทำให้ Productivity ดีขึ้นอาจส่งผลดีกับประเทศในระยะยาว นอกจากนี้แต่ละท่านยังได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาไปจนถึงปี 2567 ที่จะถึงว่ามีแนวโน้มชะลอตัว ปัญหาหลักของประเทศไทยอาจไม่ใช่เรื่องการอัดฉีดแจกเงินให้ประชาชน แต่ต้องแก้ไขเรื่องการส่งออก
จากคำถาม ‘ควรทำหรือไม่?’
ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ฉายภาพเศรษฐกิจในปี 2567 ได้กล่าวว่า ในตอนต้นรู้สึกไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าจะเป็นการใช้งบประมาณจำนวนมากถึง 5.6แสนล้านบาท แบบให้มาแล้วหมดไป การลงทุนที่ให้ผลในระยะสั้นไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานเกิดการหมุนของเศรษฐกิจ ส่วนระยะยาวถ้าสามารถทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน หรือ Productivity ก็จะเป็นผลดีต่อประชาชน เพราะฉะนั้นการทำนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้นก็ยังจำเป็น
เหตุผลประการแรก คือ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและถดถอย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้จ่าย ต้นทุนทางการเงิน รวมถึงการ Strike ของพนักงาน ใน Auto Industry ต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจของอเมริกา ยุโรป และจีนเองก็กำลังเผชิญกับภาวะหดตัว ส่งผลให้กระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยในช่วงสิ้นปี 2566 ดังนั้นในปี 2567 ประเทศไทยก็น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในระดับหนึ่ง
ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาค่อนข้างชะลอตัว ทั้งในด้านของการลงทุนภาครัฐ การบริโภคภาครัฐ และการส่งออกที่กระทบไปถึงการผลิต ฉะนั้นจึงเห็นด้วยกับการที่มีมาตรการนี้เข้ามาช่วยเป็นแรงสนับสนุนเพราะอย่างน้อยก็สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับจำนวนงบประมาณมหาศาลที่จะใช้ในโครงการนี้ รวมไปถึงการเข้ามาของเงินจำนวนมากในเวลาเดียวกันจะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ ค่าเงินจะผันผวน เพราะในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว แต่เศรษฐกิจไทยนั้นยังพอไปได้ ส่งผลให้ประเทศไทยจะมีการนำเข้าจำนวนมาก แต่การส่งออกจะแย่ รวมถึงขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งการที่เงินเฟ้อสูงขึ้นทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นเช่นกัน ส่งผลกระทบให้ค่าเงินในปี 2567 ผันผวนค่อนข้างมากและภาพเศรษฐกิจมีความเสี่ยง แต่อย่างน้อยเศรษฐกิจประเทศไทยก็จะยังพอไปได้
แม้ว่าในขณะนี้ที่มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องของการอัดฉีดงบประมาณ เร่งงบประมาณ สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างเช่น ฟรีวีซ่า จีน-คาซัคฯ แต่ทางปิยศักดิ์ มานะสันต์แสดงความคิดเห็นไว้ว่า แม้การคาดการณ์ค่าของ GDP ในประเทศที่ 2.8% จะเป็นตัวเลขที่ไม่ได้แย่ แต่ก็ยังมีความน่ากังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของแบงค์ชาติ หากตึงเกินไปก็อาจส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคตเช่นกัน ส่วนงบประมาณ 5.6แสนล้านบาท ที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ มองว่าในช่วงแรก ด้วยแนวทางที่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทางผู้ผลิตจะยังไม่เร่งการผลิตและรอดูท่าทีของรัฐบาลก่อน ส่งผลให้สินค้าอาจขาดตลาดและทำให้ราคาสูงขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นทางผู้ผลิตก็จะเริ่มลงทุนผลิตสินค้าออกมามากขึ้นจนสามารถเอื้อให้ระบบเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
‘เศรษฐกิจแย่ การแก้ต้องกระตุ้น’
แม้หลายฝ่ายมองว่าการอัดฉีดเงินเข้าสู่ผู้บริโภคอาจทำให้ GDP ในปี 2567 โตได้ถึง 5-6% แต่ทางปิยศักดิ์ มานะสันต์กลับมองว่า ประชาชนจะบริโภคแค่ในช่วงระยะเวลาโครงการ หลังจบโครงการก็จะชะลอค่าใช้จ่ายลง และยังมีปัจจัยอื่น เช่น สินค้าที่บริโภคอาจเป็นสินค้านำเข้าเงินจึงไหลออก จึงเชื่อว่าตัวคูณทางการคลังจะอยู่ที่ ประมาณ 0.2-0.3% เท่านั้น
ทางด้านฝ่ายค้าน ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ผู้แทนจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น สร้างตัวคูณให้กับเศรษฐกิจได้มากกว่าการแจกเงินหรืออัดฉีดเงิน การอัดฉีดเงินให้กับประชาชนสร้างตัวคูณได้ต่ำที่สุดอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.2-1.2 เท่านั้น โดยการจะไปถึงร้อยละ 1.2 ถือว่าสูงมากทีเดียว การบริโภคของประเทศไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีลักษณะเป็นบวก ดังนั้นการมีโครงการนี้เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องน่ากังวลว่าทางรัฐบาลกำลังให้ยาถูกโรค หรือ แก้ไขถูกจุดอยู่หรือไม่ เพราะปัญหาหลักของประเทศไทยในขณะนี้คือการส่งออก เหตุผลถัดมาคือ กังวลเกี่ยวกับต้นทุนค่าเสียโอกาส มองว่าไม่ควรนำงบประมาณที่สูงขนาดนี้มาใช้กับโครงการที่ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริงของประเทศ หากเกิดโครงการนี้ขึ้น แม้ประชาชนบางส่วนจะได้รับผลประโยชน์ในเรื่องของสภาพคล่องทางการเงินไปอีก 6 เดือน แต่ไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว ทั้งยังให้ตัวอย่างว่า หากเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งต้องจ่ายเดือนละ 1.3หมื่นล้านบาท วาระรัฐบาลที่เหลืออยู่อีก 44 เดือน จะใช้งบประมาณราว 5.7แสนล้านบาทซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะสามารถช่วยเหลือเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุได้อีก 4 ปีจนหมดวาระรัฐบาล อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินทีเดียวทั้งก้อนอีกด้วย
สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน KBTG และอดีตที่ปรึกษา CEO ธนาคาร Krungthai เห็นด้วยกับโครงการแต่เห็นด้วยแบบเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะเรื่อง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบันไว้ว่า
- เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ Productivity น้อยลง จากเคยทำงานประจำก็ลดเหลืองาน Part Time หรือบางคนก็ถูกเลิกจ้าง
- โลกกำลังเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเร็วขึ้น และ GDP ก็จะสูงขึ้นตาม
- Productivity โดยรวม กล่าวคือ หากประชาชนในประเทศไม่มีการพัฒนาจะส่งผลให้ Productivity ตกลง ควรนำงบประมาณที่สูงขนาดนี้มาสร้างความแข็งแรงให้กับคนในประเทศเพื่อให้ Productivity ดีขึ้น หรือสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลอาจส่งผลได้ดีกว่า
เศรษฐกิจดิจิทัล คืออะไร?
การนำเทคโลโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนรอบเร็วขึ้น โดยแปลงลักษณะทางกายภาพให้เป็นไร้กายภาพ ปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจหมุนรอบเร็วขึ้น ประกอบด้วย
- Digital ID : การยืนยันตัวผ่านระบบดิจิทัล โดยไม่ต้องเดินทางไปทำธุรกรรมถึงธนาคารหรือหน่วยงานราชการ
- Digital Money : การใช้เงินผ่านระบบดิจิทัล เช่น โมบายแบงก์กิ้ง เป๋าตัง เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก
- Digital Paper : การทำเอกสารหรือธุรกรรมโดยการส่ง Digital Paper จากหน่วยงานหรือสำนักงานโดยตรง และสามารถยืนยันได้ว่าเป็นเอกสารตัวจริงถูกต้องตามกฎหมาย
- Digital Assess : การซื้อขายผ่านระบบดิจิทัล เช่น พระเครื่อง ทองคำ
หากงบประมาณ 5.6แสนล้านบาทของโครงการ ถูกใช้ในการสร้าง Infrastructure ขยายขีดความสามารถของประชาชน และการทำให้เศรษฐกิจหมุนเร็วขึ้นโดยการสร้าง Productivityโดยรวมของประเทศจะคุ้มค่าและส่งผลที่ดีต่อประเทศเป็นในระยะยาว จึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงเห็นด้วยกับโครงการแต่เห็นด้วยเฉพาะกลุ่มเฉพาะเรื่อง เนื่องด้วยภาพเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ไม่ได้ร้ายแรงขนาดที่ต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเวลาสั้นๆแล้วหมดไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าหวังผลระยะสั้นหรือระยะยาว