งานวิจัย ชี้ คนที่เป็นหนี้นอกระบบ มีหนี้เฉลี่ย 54,300 บาท/คน เหตุกู้เงินในระบบไม่ได้ แนะรัฐต้องให้ประชาชนเข้าถึง 'ไมโครไฟแนนซ์' ได้ง่ายขึ้น
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่ บทความ หนี้นอกระบบในประเทศไทยเป็นอย่างไร เล่าถึงบทสรุปงานวิจัย Pinitjitsamut & Suwanprasert (2022) ซึ่ง 'การศึกษาสถานการณ์หนี้นอกระบบในประเทศไทยและศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการกู้ยืมหนี้นอกระบบด้วยแบบจำลองเศรษฐมิติและ machine learning' ผลการศึกษาจากข้อมูลสำรวจระดับรายครัวเรือนที่ได้รับจากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ในปี พ.ศ. 2557 ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมร่วมมือกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ
พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 4,628 ครัวเรือน จาก 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สระบุรี ราชบุรี พิษณุโลก ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา เชียงราย ยโสธร มหาสารคาม และหนองคาย โดยเฉลี่ยแล้ว ลูกหนี้มีหนี้นอกระบบอยู่ที่ 54,300 บาทต่อคน
เมื่อแบ่งหนี้นอกระบบออกตามกลุ่มเจ้าหนี้ กลับพบว่าเจ้าหนี้ส่วนมาก คือ นายทุนนอกพื้นที่ (31%) แก๊งหมวกกันน็อค (30%) และนายทุนในพื้นที่ (27%) ดอกเบี้ยเงินกู้ของหนี้นอกระบบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10–11% ต่อเดือน สำหรับกลุ่มนายทุนในพื้นที่และนายทุนนอกพื้นที่ ส่วนแก๊งหมวกกันน็อคคิดดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยที่ 20% ต่อเดือน
กลุ่มอาชีพมีหนี้นอกระบบสูงสุดเป็นสัดส่วนถึง 52.4 % คือ ค้าขาย เพราะต้องการเพื่อนำไปใช้จ่ายในการลงทุน เนื่องจากไม่สามารถกู้เงินในระบบได้ รองลงมา คือ อาชีพอิสระ 49.8%. และ ไม่ได้ทำงาน 46.9 % ซึ่งกู้เงินเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยจำเป็นของครัวเรือน

สอดคล้องกับ ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เคยออกมาระบุว่า 1 ใน 8 ข้อเท็จจจริงการเป็นหนี้ของคนไทย คือ คนที่เป็นหนี้นอกระบบ มีสาเหตุมาจากการเข้าไม่ถึงหนี้ในระบบ เพราะมีรายได้ไม่แน่นอน เจ้าหนี้ไม่เห็นข้อมูลรายได้ จึงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และหากจะปล่อย อาจคิดดอกเบี้ยสูง เลือกกู้นอกระบบเอง เพราะสะดวก ได้เงินเร็ว ไม่ต้องมีหลักประกัน แม้ดอกเบี้ยจะแพง และมีการขอสินเชื่อในระบบเต็มแล้ว จนต้องกู้หนี้นอกระบบไปจ่ายหนี้ในระบบ

แนะรัฐบาล ปลดล็อกให้ลูกหนี้เข้าถึง ไมโครไฟแนนซ์ ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม งานวิจัย Pinitjitsamut & Suwanprasert (2022) ได้ระบุข้อเสนอเชิงนโยบายว่า รัฐบาลต้องดำเนินการ 2 ส่วนเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ คือ 1. การพัฒนาระบบการเงินในระดับจุลภาค หรือที่เรียกว่า ไมโครไฟแนนซ์ (micro-finance)
ดังนั้นรัฐบาลอาจพิจารณานโยบายทางการเงินในการปล่อยกู้ครัวเรือนรายย่อยเพื่อการลงทุนในธุรกิจ ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยนำเงินสวัสดิการในอนาคตจากรัฐบาล เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ มาช่วยค้ำประกัน เพื่อช่วยสนับสนุนการลงทุนเพื่อสร้างอาชีพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาว
และ 2. การประยุกต์ใช้ machine learning เพื่อพยากรณ์ครัวเรือนที่น่าจะกู้ยืมเงินนอกระบบ เพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น
โดยวานนี้ (19 พ.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ประกาศในการกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ว่า สิ้นเดือน พ.ย.นี้ จะแถลงใหญ่แก้หนี้นอกระบบ ใช้นโยบายในอดีตดึงนายอำเภอ ตำรวจในพื้นที่เป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เนื่องจากที่ผ่านมาเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด
และล่าสุด (20 พ.ย.66) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว. มหาดไทย กล่าวถึงการเตรียมแถลงแผนแก้หนี้นอกระบบ ว่าวันที่ 28 พ.ย.นี้ กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้นายอำเภอ ผู้กำกับการ แต่ละโรงพักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานในการแก้ไขปัญหานี้ ที่เป็นการเอาเปรียบประชาชน โดยขอให้ทุกฝ่ายรอ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แถลงข่าวด้วยตนเอง