มีซิมการ์ดเกิน 6 เลขหมาย ต้องยืนยันตัวตนตามกรอบเวลาที่กำหนด

12 ม.ค. 2567 - 04:35

  • ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน

  • ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลขขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน

  • หากไม่มายืนยันตัวตนในกำหนด หมายเลขอาจถูกระงับการใช้งาน

economy-simcard-mobile-phone-SPACEBAR-Hero.jpg

พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.ท.ดร.ธัชชัย ปีตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านอาชญากรรมเทคโนโลยี ได้เรียกประชุมอนุกรรมการบูรณาการฯ แถลงถึงมาตรการของ กสทช. กำหนดให้ผู้ถือครองซิมตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไปมายืนยันตัวตน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ม.ค.นี้เป็นต้นไป หากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใดไม่มายืนยันตัวตนในกำหนด หมายเลขอาจถูกระงับการใช้งาน และถูกเพิกถอนไปในที่สุด เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์

พล.ต.อ.ณัฐธรฯ ได้กล่าวว่า ซิมการ์ดโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่กลุ่มมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องมีและใช้ในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการโทรหาเหยื่อ, การส่งข้อความ หรือ sms แนบลิงก์, โอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ร่วมกับสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต  กสทช. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว มุ่งเน้นจัดระเบียบซิมการ์ด โดยเฉพาะหมายเลขในระบบเติมเงิน ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งานจริง หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน จึงได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีสาระที่สำคัญ ดังนี้

  1. ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน
  2. ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลขขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน

หากไม่มายืนยันตนในกำหนด จะถูกพักใช้ ระงับการโทรออกและการใช้อินเทอร์เน็ต ยกเว้นโทรเบอร์ฉุกเฉิน และมีเวลาอีก 30 วัน หากยังไม่มีการยืนยันตน จะถูกเพิกถอนการใช้เบอร์ของซิมการ์ดที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมด

ในระยะแรกจะเร่งรัดให้ผู้ถือครองซิมการ์ด จำนวน 101 เลขหมายขึ้นไปเข้ามายืนยันตัวตนก่อน เนื่องจากมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่า คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้ใช้บริการที่อยู่ในข่ายต้องยืนยันตัวตน มีประมาณ 3 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดในทุกเครือข่าย 

มาตรการดังกล่าว กสทช. ออกมาเพิ่มเติมเพื่อสกัดการทำงานของกลุ่มมิจฉาชีพ จากที่มีอยู่เดิม 7 มาตรการ เช่น การระงับการโทรเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบที่คนร้ายใช้อยู่เป็นประจำหรือไม่ทราบแหล่งที่มา, เพิ่ม Prefix +697 และ +698 หน้าเลขหมายการโทรเข้าจากต่างประเทศผ่าน VOIP และ Roaming ตามลำดับ, การจัดทำบริการ *138 ปฏิเสธการรับสายต่างประเทศ, จัดระบบลงทะเบียนสำหรับผู้ส่งข้อความไปยังผู้รับจำนวนมากๆ (Sender name), จำกัดจำนวนการลงทะเบียนซิมการ์ด และยกเลิกการส่ง SMS แนบลิ้งค์ บางประเภท เป็นต้น 

การออกมาตรการดังกล่าว ดำเนินการควบคู่ไปกับการออกกวาดล้างจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมเถื่อน และแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์วิทยุคมนาคมผิดกฎหมาย รวมทั้งจัดระเบียบเสาสัญญาณตามแนวชายแดนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต

พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ภายหลังจากที่มาตรการดังกล่าวของ กสทช. มีผลบังคับใช้ จะทำให้กระบวนการสืบสวนขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อมีการกำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากมายืนยันตัวตน 

จะทราบตัวผู้ใช้งานที่แท้จริง หากไม่มายืนยันตนในกำหนด ซิมการ์ดนั้นจะถูกระงับการใช้งานและถูกเพิกถอนจากระบบไปในที่สุด เพราะซิมการ์ดเหล่านั้นอาจตกอยู่ในความครอบครองของพวกมิจฉาชีพแล้ว ทำให้จำนวนซิมผีในตลาดมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งเมื่อมีคดีเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่สามารถขยายผลจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ลงทะเบียน รวมไปถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีม้า ไปถึงตัวการใหญ่ได้ต่อไป

พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละค่าย จะเป็นผู้พัฒนารูปแบบและวิธีการลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้าของตน และมีหน้าที่ต้องแจ้งเตือนให้ผู้ถือครองซิมการ์ด ที่เข้าข่ายให้มาดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้กระทบต่อผู้ใช้บริการที่สุจริตน้อยที่สุด

ด้านวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ปัญหาการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่สร้างความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีความห่วงใยลูกค้าและประชาชนในประเด็นนี้อย่างยิ่ง ที่ผ่านมาจึงมุ่งมั่นสื่อสาร สร้างองค์ความรู้ด้านทักษะดิจิทัลในการรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐ ทั้งฝ่ายความมั่นคง อย่างตำรวจไซเบอร์ กระทรวงดีอี และ กสทช. เพื่อดูแล ปกป้อง ความปลอดภัยของลูกค้าและประชาชนภายใต้ โครงการ AIS อุ่นใจไซเบอร์ ในหลากหลายรูปแบบ

​จากนโยบายของ กสทช. ในการปราบปรามการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ ที่ได้ประกาศหลักเกณฑ์การยืนยันตัวตนและข้อมูลการใช้บริการ สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาที่ถือครองเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบรายเดือนและเติมเงินจำนวนตั้งแต่ 6 เบอร์ขึ้นไป ต้องดำเนินการยืนยันตัวตน เพื่อป้องกันการแอบอ้างจากมิจฉาชีพ ที่จะนำหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปกระทำความผิด ซึ่ง บริษัทพร้อมอำนวยความสะดวกลูกค้าจากนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่

โดยจะดำเนินการส่ง SMS แจ้งเตือนไปยังหมายเลขที่เข้าข่ายต้องดำเนินการยืนยันตัวตน ในวันอังคารที่ 16 มกราคม 2567 ด้วย Sender “AIS” (ไม่มี link แนบ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิและป้องกันการถูกระงับใช้งานชั่วคราว   ลูกค้าสามารถดำเนินการยืนยันตัวตนได้ภายในเวลาที่กำหนด ผ่าน AIS Shop, AIS Telewiz  และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ หรือสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองผ่าน 2 ช่องทาง 1. กด*161*2*เลขบัตรประชาชน# โทรออก ฟรี (รอรับ SMS ทำตามขั้นตอน) 2. ผ่านแอป myAIS (สำหรับลูกค้าระบบเติมเงิน)

​​สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ดำเนินการยืนยันตัวตนตามเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นการปกป้องความปลอดภัยจากการถูกมิจฉาชีพลักลอบนำเบอร์ไปใช้ บริษัทฯ จะดำเนินการระงับการใช้งานชั่วคราว โดยจะยังคงรับสายและใช้เน็ตเข้า AIS Website และ แอป myAIS ได้ แต่ไม่สามารถโทรออกได้ (ยังคงโทรหมายเลข Emergency และ AIS Call Center ได้) โดยลูกค้าสามารถมายืนยันตัวตนเพื่อเปิดการใช้งานได้ผ่านช่องทางข้างต้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ais.th/consumers/lifestyle/blog/public-relations/identity-verification-policy-for-user-registration

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์