ลดต้นทุน 4ล้าน/ปี ด้วยการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

13 กุมภาพันธ์ 2567 - 11:00

Economy-SiMumMueang-Market-   Reduces-business-costs-with-sustainable-waste-management-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ภารกิจลดรายจ่าย สร้างรายได้จากขยะ 230 ตันต่อวัน

  • ด้วยโครงการจัดการขยะแบบบูรณาการและพัฒนาอย่างยั่งยืน

  • หวังเป็น Zero waste market 3 ภายในปี 2570

ตลาดสี่มุมเมือง ลดรายจ่าย 4 ล้านต่อปี เพิ่มรายได้ 20 ล้านต่อปี จากการจัดการขยะยั่งยืน

วันนี้ทีมข่าว SPACEBAR พามาดูหนึ่งในต้นแบบพื้นที่ตลาดสดที่มีการจัดการขยะอย่างยั่งยืน การันตีด้วยรางวัล “Thailand Green Design Awards 2021” ด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณภาพ

RM407137.jpg
Photo: น้ำ ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ตลาดสี่มุมเมือง

น้ำ ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ตลาดสี่มุมเมือง เล่าถึงที่มาของ โครงการจัดการขยะแบบบูรณาการและพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า โครงการนี้ดำเนินมากว่า 8 ปีแล้ว มาจากปัญหาจากการที่ตลาดสี่มุมเมือง เป็นตลาดค้าส่งผักผลไม้ แต่ละวันมีการกำจัดขยะจำนวน 230 ตันต่อวัน ทำให้มีภาระต้นทุนในการฝั่งกลบกำจัดขยะสูงถึงปีละ 35 ล้านบาท หรือ 3-4 ล้านต่อเดือน 

โครงการนี้จึงถูกพัฒนาผ่าน 3 กระบวนการ คือ การคัดแยกขยะ การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ การนำขยะไปพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ 

โดยมีรูปธรรมที่เกิดขึ้น คือ 1.สามารถแยกเศษใบผัก นำไปจำหน่ายให้กับผู้ประกอบ อาทิ บ่อเลี้ยงปลา ราว 50 ตันต่อวัน  2.แยกเปลือกข้าวโพด จุกสับปะรด แปรรูปเป็นอาหารโคเนื้อและโคนม  ราว 18 ตันต่อวัน 3.น้ำจุลินทรีย์ EM จากเศษผลไม้จุกสับปะรด ส้ม แตงโม และมะนาว นำมาทำความสะอาดตลาดและห้องน้ำ  4.การรีไซเคิล ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ลังโฟม ราว 12 ตันต่อวัน

RM406990.jpg
Photo: เศษใบผักที่เหลือจากการตัดแต่งในตลาดสี่มุมเมือง

ความสำเร็จของโครงการนี้สามารถเปลี่ยนขยะเป็นรายได้อย่างน้อย 13-20 ล้านบาทต่อปี เช่น ขยะประเภทอินทรีย์ เศษผักเศษผลไม้  สามารถนำไปจำหน่ายได้ปีละ 10,000,000 บาท น้ำจุลินทรีย์ EM ช่วยลดค่าน้ำยาทำความสะอาดได้ปีละ 1,500,000 บาท และขยะประเภทอนินทรีย์ จำหน่ายเป็นขยะรีไซเคิลได้ปีละ 1,500,000 บาท

และลดรายได้การฝังกลบขยะได้ 4 ล้านบาทต่อปี จากการลดขยะ 40% จากทั้งหมด 230 ตันต่อวัน ในอนาคตตลาดสี่มุมเมืองยังตั้งเป้าเป็น Zero waste market ภายในปี 2570

RM407053.jpg

การเปลี่ยนพฤติกรรมเอง ต้องเริ่มที่ผู้บริหารต้องมองว่า การดำเนินโครงการนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมันเป็นต้องพิสูจน์ระยะยาว มันไม่ได้เงินในอีก 2 3 ปีหรอก เพราะ เราทำมาประมาณ 8 ปี แล้วกว่าจะถึงจุดนี้

น้ำ ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ตลาดสี่มุมเมือง

น้ำ ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ตลาดสี่มุมเมือง เผยอีกว่า หัวใจของความสำเร็จในการเปลี่ยนพฤติกรรม คือ ความง่ายในการปฏิบัติ โดยคน 2 กลุ่ม ที่จะร่วมทำให้เกิดรูปธรรมมากที่สุด คือ แม่ค้า และ แรงงาน 

ขยายความ คือ ในช่วงแรกที่เริ่มโครงการทางตลาดจะมีถังขยะหลายสีเพื่อแยกประเภทของขยะให้แม่ค้าทิ้งตาม ประเภทของขยะ ซึ่งเดิมที่ตลาดแยกโซนสินค้าอยู่แล้ว ทำให้จัดการได้ง่าย แม้ในช่วงแรกอาจจะต้องใช้ไม้แข็ง โดยการให้พนักงานยืนเฝ้า แต่เมื่อแม่ค้าเห็นผลลัพธ์ก็ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องเอง

อีกส่วนที่สำคัญ คือ แรงงาน 4,000-5,000 คน กลุ่มนี้จะเก็บขยะอนินทรีย์ อย่างเช่น ขวด พลาสติก ซึ่งจะมีอยู่ประมาณ 20 % ซึ่งทางตลาดก็ทำ กระเป๋าเชื่อมต่อกับรถเข็นใส่ของ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน และตลาดมีการรับซื้อ สร้างรายได้เพิ่ม แถมโปรแกรมให้รางวัล ด้วยเพื่อสร้างแรงจูงใจ

RM406981.jpg

เราต้องทำให้ง่ายต่อผู้ปฏิบัติ เขาเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ และเราก็สื่อสารกับเขาว่า หลังคุณร่วมกันทำ มันเกิดประโยชน์จริง ดีกับทุกฝ่าย เขาก็เปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด

น้ำ ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ตลาดสี่มุมเมือง

นอกจากนี้ ตลาดสี่มุมเมือง ยังใช้ โซลาร์เซลล์ ช่วยลดค่าไฟ โดยปัจจุบันนำไฟฟ้าทีได้จากแสงแดดราว 20% มาใช้ในตลาด และมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น 

สุดท้าย น้ำ ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ตลาดสี่มุมเมือง เน้นย้ำว่า ความยั่งยืนในการบริหารธุรกิจเป็นเหมือน DNA ของตลาดสี่มุมเมืองที่ผู้บริการส่งมาต่อรุ่นสู่รุ่น โดยมีหัวใจ คือ ต้องรับผิดชอบต่อทุกคนในครอบครัวสี่มุมเมือง รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยตลาด 40 ปีที่ผ่านมาพัฒนามาโดยตลอด ตั้งเป้าอยากให้ที่นี่เป็น Destination ที่น่าภาคภูมิใจของทุกคน

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์