ปลัดคลังเผย สัปดาห์นี้นัด”ศุลกากร-สรรพากร”ถกทบทวนยกเว้นอากรนำเข้าสินค้าไม่เกิน 1,500 บาท
ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงการทบทวนการยกเว้นอากรสินค้านำเข้าที่มีการสั่งซื้อและนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการยกเว้นอากรและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม7% สำหรับสินค้าที่มีหีบห่อราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท
โดยดูว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแปลงอัตรา หรือควรยกเลิกการยกเว้นหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์
โดยนอกจากมาตรการด้านภาษีแล้ว จะพิจารณาผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งบริการขนส่งโลจิสติกส์ที่ไม่ใช่ไปรษณีย์ การหลบเลี่ยงโดยสำแดงราคาสินค้าให้ต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อตั้งใจเลี่ยงภาษี
รวมถึง เขตปลอดอากร ที่กำหนดไว้ หรือ ฟรีโซน เพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ผลิต คนทำมาค้าขายที่ได้รับผลกระทบจากยกเว้นภาษีการสั่งซื้อสินค้าด้วย
สำหรับการกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำสำหรับของที่ได้รับการยกเว้นอากรนั้น เป็นไปตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเปิดตลาดและอำนวยความสะดวกทางการค้าในระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี โดยสินค้าราคาศุลกากรขั้นต่ำที่ไทยกำหนดให้ยกเว้นอากร 1,500 บาท เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2530 ที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 500 บาท

ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จี้ ต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วน
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวถึง การทบทวนการยกเว้นอากรสินค้านำเข้าที่มีการสั่งซื้อและนำเข้ามาจากต่างประเทศ ที่รัฐบาลจะพิจารณาในสัปดาห์นี้
โดยมองว่า การแก้ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยอย่างยั่งยืน จำเป็นจะต้อง ให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน รัฐบาลต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา โดยให้ นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อความว่องไวในการสั่งการ
เนื่องจาก กรมสรรพากร จะใช้กำหนดมาตรการทางภาษีอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องได้รับความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับ กรมศุลกากร ที่ดูแลการนำเข้าตามด่านชายแดน และหน่วยงานด้านความมั่นคงในการกำกับดูแลพื้นที่ รวมถึง กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ต้องเข้ามาดูแลเรื่องของสินค้าเกษตร เพื่อดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกรไทย , กระทรวงสาธารณสุข ดูแลความปลอดภัยของมาตรฐานสินค้าที่ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ , กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้า การให้ใบอนุญาตสร้างโรงงาน เพื่อปกป้องเอสเอ็มอีของไทย , กระทรวงพาณิชย์ ต้องเข้าดูแลราคาสินค้านำเข้าไม่ให้ถูกเกินไป เพราะจะทำให้สินค้าไทยแข่งขันไม่ได้ รวมถึงเร่งรัดเรื่องการเจรจา FTA ด้วย เพื่อสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทย
เนื่องจากปัจจุบันนี้ไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดดุลการค้าจีนจำนวนมาก โดยล่าสุด มียอดการขาดดุลการค้าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท และ หากรัฐบาลยังคงปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป คาดว่าภายใน 2 ปี ยอดการขาดดุลอาจจะสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
โจทย์ 3 เรื่องที่รัฐบาลต้องเร่ง แก้ 1.ดูแลสินค้าจีนทะลักเข้าไทย 2.การตั้งโรงงาน ของผู้ประกอบารจีนในไทย 3.คลังสินค้าจีนที่มาตั้งในประเทศ ขณะเดียวกันต้องรักษาสมดุล เศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ได้”
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ยังระบุอีกว่า ประเทศไทยขาดดุลสินค้ากับจีน สูงที่สุดในประเทศกลุ่มอาเซียน
พร้อมยกตัวอย่างประเทศ อินโดนีเซีย ปกป้องผู้ประกอบการในประเทศอย่างดี เช่น ห้ามนำเข้าสินค้าออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มราคาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ หรือ 3,500 บาท เข้าประเทศ
รวมถึง หากฤดูกาลไหน ผลผลิตสินค้าเกษตรชนิดใด ชนิดหนึ่ง มีจำนวนมากในประเทศ อินโดนีเซีย ประกาศห้ามนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อรักษาระดับราคาในประเทศและปกป้องผู้ค้า ทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซีย สามารถลดการขาดดุลจากจีนได้ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังดีอยู่ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทย จะต้องยกระดับปัญหาสินค้าจีนทะลักไทยเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยวิกฤตไปมากกว่านี้