เหนือ กสทช. ยังมีศาลปกครอง ทำราคาหุ้นทรู ร่วงหนัก หวั่นดีลฮุบ Dtac พัง

31 ต.ค. 2566 - 09:01

  • ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลชั้นต้น

  • รับฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ขอเพิกถอนมติ กสทช.ไฟเขียว การควบรวม

  • ระบุ เป็นคดีเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีอายุความ

economy-stocks-fall-true-dtac-SPACEBAR-Hero.jpg

การควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทค เสร็จสมบูรณ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1มีนาคมที่ผ่านมา โดยแบรนด์ Dtac ยังคงอยู่ต่อไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อคุ้มครองลูกค้า Dtac  

ดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี  มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ ในชื่อเก่า ของทรู คอร์ปอเรชั่น มีการทำการตลาด ภายใต้คอนเซ็ป Better Together รวมแล้วดีกว่า  มีการเลิกบริษัทดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นโอปะเรเตอร์ Dtac  โดยโอนเข้ามาเป็นกิจการในเครือของทรู 

แต่เหนือบอร์ด กสทช.​ ยังมีศาลปกครอง เหนือศาลปกครองชั้นต้น ยังมีศาลปกครองสูงสุด ที่ทำให้ของตาย100% ของทรู กลายเป็นความไม่แน่นอน เกิดความเสี่ยงที่ ดีลนี้จะต้องล้มไป เมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้เพิกถอนมติ บอร์ด กสทช. ครั้งที่ 5/2565  เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565  รับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู กับ ดีแทค เพราะเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566  ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า หมดอายุความในการฟ้องคดี ที่จะต้องฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องรู้ หรือควรรู้ เหตุแห่งการฟ้องคดี จึงไม่รับฟ้อง  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

แต่ศาลปกครองสูงสุดเห็นต่าง  โดยระบุในคำสั่งว่า การฟ้องคดีปกครองซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม หรือสถานะบุคคล จะฟ้องเมื่อไรก็ได้ ตาม มาตรา 3 ของ พรบ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งศาลมีอำนาจจะรับฟ้อง แม้จะหมดอายุความการฟ้องคดีแล้ว หากเห็นว่า คดีที่ยื่นฟ้องเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม  ในกรณีนี้ ศาลเห็นว่า

“บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยรายจึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้างจึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามมาตรา 3 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ศาลปกครอง จึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ดังกล่าว จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป”

ราคาหุ้นทรู ในการซื้อขายภาคเช้าวานนี้ ร่วงลงถึง 9.16% ปิดที่ 5.95 บาท ลดลง 0.60 บาท

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์