ดอกเบี้ยขาขึ้น ดันกำไรแบงก์ ปี 66 อู้ฟู่

20 มกราคม 2567 - 03:31

Economy-Take-a-look-at-9-banks-announcing- their-results-for-2023-SPACEBAR-Hero.jpg
  • พบ SCBX กำไรพุ่งสุด 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9%

  • รวม 9 ธนาคาร กำไรสุทธิ 226,573 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17.43%

  • CIMB เจ้าเดียว พบกำไรลดลง 44.9 % จากค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ดอกเบี้ยขาขึ้น ดัน 9 แบงก์กำไรปี 66 อู้ฟู่2.26 แสนล้านบาท

จากสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลสะท้อนไปยังผลประกอบการในการดำเนินงานของธุรกิจธนาคาร ล่าสุด (20 ม.ค.67) ธนาคารพาณิชย์ ทยอยประกาศผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา ทีมข่าว SPACEBAR รวบรวม 9 ธนาคารแรกที่ประกาศผลประกอบการ และได้ลำดับธนาคารที่มีผลประกอบการสูงสุด ดังนี้

S__57729510.png

1.บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX (หลักทรัพย์ SCB) รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิของปี 2566 จำนวน 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% จากปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นตามสภาวะของอัตราดอกเบี้ย ถึงแม้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดจะเกิดขึ้นจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมลดลง

2.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  KBANK รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิ 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ก่อนหน้านี้ที่ KBANK มีกำไรสูงกว่าระดับนี้ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2557 ซึ่งทำได้ 46,153 ล้านบาท  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำเมื่อปีก่อน รวมทั้งเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามธนาคารยังตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 51,840 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน ส่งผลให้ธนาคารมี Coverage Ratio ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ที่ระดับ 152.33% 

สำหรับการเติบโตของกำไรในปีนี้หนุนจากรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 11.19% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 148,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.61% ขณะที่อัตราผลตอบแทน (Net Interest Margin: NIM) อยู่ในระดับ 3.66%

3.ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิของปี 2566 อยู่ที่ 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.1% จากปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่ม 28% ชี้สอดคล้องทิศทางต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น แจงตั้งสำรองระมัดระวังใกล้เคียงปีก่อนที่กว่า 3.3 หมื่นล้าน 

รวมถึงการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เข้าสู่ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.02%

สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงเล็กน้อย จากธุรกิจหลักทรัพย์ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ลดลง ขณะที่ค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และธุรกิจบัตรเครดิตปรับตัวดีขึ้น

**4.ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ** รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิของปี 2566 กำไรสุทธิ จำนวน 36,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8.7% สาเหตุจากรายได้การดำเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อขยายอย่างระมัดระวัง รักษาการตั้งสำรองในระดับสูง รองรับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นการเติบโตตามยุทธศาสตร์

5.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ หรือ Krungsri  รายงานผลประกอบการสำหรับปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 32.93 พันล้านบาท เติบโต 7.2% จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ ผนวกกับการตั้งสำรองตามนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวังเพื่อความแข็งแกร่งของคุณภาพสินทรัพย์

6.ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB รายงานผลประกอบการสำหรับปี 2566 มีกำไรที่ 18,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน จากผลการดําเนินงานหลักและคุณภาพสินทรัพย์ที่ควบคุมได้ แม้ภาพรวมสินเชื่อลดลง แต่รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 11% พร้อมเปิดกลยุทธ์ปี 67 เน้น ขยายฐานเงินฝากและสินเชื่อผลตอบแทนสูง

7.บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลประกอบการสำหรับปี 2566 มีกำไรสุทธิที่ 7,302.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.54 ล้านบาท หรือ 1.1% จากปี 65 ที่มีกำไรสุทธิ 7,224.07 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ 8.6% อยู่ที่ 13,828.64 ล้านบาท ตามเงินให้สินเชื่อที่ 234,815.18 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% แม้ว่าในปีนี้ ต้นทุนทางการเงินของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นถึง 93.9% ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด

ประกอบกับการปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ในส่วนของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 6.4% เนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน โดยรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์อ่อนตัวลง 16.5% จากตลาดทุนที่ผันผวนรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL)

8.บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG รายงานผลประกอบการสำหรับปี 2566 มีกำไรสุทธิที่  2,096.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.8% เมื่อเทียบปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้จากการดำเนินงานอื่น และการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

9.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT รายงานผลประกอบการสำหรับปี 2566 มีกำไรสุทธิที่ 1,605.3 ล้านบาท ลดลง 44.9 % จากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ พร้อมการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.3 เพื่อความระมัดระวังและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เป็นผลจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น

จากการประกาศกำไรของทั้ง 9 แบงก์นี้ พบว่า มีกำไรรวมกันราวๆ 226,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.43 % นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าทาง ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) จะรายงานงบฯวันจันทร์ที่ 22 ม..ค. 2567

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์