ทางออกผู้ค้าออนไลน์ หลังสรรพากรสั่งเช็กอดขายรีดภาษี

8 มกราคม 2567 - 02:55

economy-tax-shopping-online-thai-SPACEBAR-Hero.jpg
  • กรมสรรพากร สั่งผู้ให้บริการแพลทฟอร์มออนไลน์ รายงานยอดขายพ่อค้า แม่ค้า ร้านค้า

  • ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ให้แพลทฟอร์มออนไลน์อย่าง talad.com มองภาพหลังจากนี้

  • แนะผู้ค้าออนไลน์ ปรับตัวและการทำงาน ต่อไปจะมี VAT และภาษีรายได้เข้ามาเกี่ยว

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ  ผู้เชี่ยวชาญด้านแพลทฟอร์มออนไลน์   อันดับต้น ๆ ของบ้านเราก็ได้โพสต์รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ บนเฟซบุ๊กในชื่อบัญชี  www.facebook.com/pawoot มีเนื้อหาว่า   การส่งข้อมูลยอดขาย ของผู้ค้าทั้งหมดของบรรดาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้กับสรรพากรโดยตรง จะทำให้สรรพากรทราบถึง ยอดขายของ พ่อค้าแม่ค้ารวมถึงบริษัทที่ขายของในแพลตฟอร์มแต่ละราย ซึ่งจะนำมาสู่ การจัดเก็บภาษีจากการขาย รวมไปถึงการประเมินภาษีจากรายได้ ของผู้ค้าในแพลตฟอร์มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เขาประเมิน ถึงผลกระทบและรูปแบบของภาษีที่ผู้ค้าออนไลน์ในแพลตฟอร์ม จะที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ว่า

1. ภาษีมูลค่าราคาเพิ่ม  VAT พ่อค้าแม่ค้ารวมไปถึงบริษัท ที่ขายของ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ มียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องมีหน้าที่ไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม นั่นหมายถึง เมื่อคุณขายสินค้า 100 บาท จะต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปอีก 7% ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อ ต้องจ่ายเงิน 107 บาท   ตรงนี้จะทำให้ราคาของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

กรณีมียอดขายไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ไม่ต้องมีหน้าที่จัดเก็บภาษีในส่วนนี้กับลูกค้าของคุณ

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากบุคคลธรรมดา มีรายได้ไม่เกิน 150,000 บาท ต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษีส่วนนี้ แต่เมื่อมีรายได้เกิน 150,000 บาทขึ้นไป จะเสียภาษีเป็นขั้นบันได ตั้งแต่ 5% - 30% 

หากเป็นนิติบุคคลมีรายได้และกำไรสุทธิ น้อยกว่า 300,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่เมื่อมีรายได้เกิน 300,000 บาทขึ้นไป  จะเริ่มเสียภาษี 15% - 20% 

เขาเสนอแนวทางการรับมือไว้ว่า  กรณีที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เป็น ‘บุคคล’ ควรพิจารณา

1. เปิดเป็นบริษัท และทำการค้าในรูปแบบ ‘บริษัท’ แทนการทำในรูปแบบบุคคล ในแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 20% และยังสามารถวางแผนภาษีได้มากกว่าการ ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เช่นนำค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปหัก ได้ลดหย่อน ได้มากกว่า บุคคลธรรมดา

2.ใช้ระบบ บัญชีออนไลน์ ซึ่งมีผู้ให้บริการหลายราย ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นข้อมูลการค้าได้ทันที 

3.วางแผน รายได้-รายจ่ายให้เป็นระบบ รวมไปถึงการวางแผนภาษีเพื่อที่จะทำให้เสียภาษีอย่างถูกต้องน้อยที่สุด ซึ่งตรงนี้ควรจะปรึกษากับสำนักงานบัญชีที่ใช้บริหาร

ภาวุธ บอกด้วยว่า หากไม่อยากเสียภาษี หรือเข้าระบบสรรพากรจริง ๆ ต้องทำยังไง อาจจะต้องย้ายไปขายในแพลตฟอร์มอื่น ที่ไม่อยู่ในการควบคุมของกรมสรรพากรประเทศไทย เช่นแพลตฟอร์ม ที่ไม่ได้มีตัวตนหรือจดทะเบียนอยู่ในประเทศไทย แต่ปัญหาที่ตามมา คือ กลุ่มลูกค้าในแพลตฟอร์มเหล่านั้น ไม่ใช่คนไทย หรือมีจำนวนน้อย จะไม่สามารถสร้างยอดขายได้เท่าเดิม

สุดท้ายเขาฝากถึงภาครัฐด้วยว่า

1. การจัดเก็บภาษีให้เท่าเทียม เพราะปัจจุบันในแพลตฟอร์มออนไลน์ของประเทศไทย มีผู้ค้าจากต่างประเทศ เข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก โดยผู้ค้าเหล่านั้นไม่มีตัวตน หรือบริษัทอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น การจัดเก็บภาษี ก็ควรจะมีรูปแบบที่ชัดเจนและเท่าเทียม กับผู้ค้าของคนไทย

2. เมื่อภาคเอกชน มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่ก็ภาครัฐเองก็ต้อง นำภาษีเหล่านั้น ไปใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วยเช่นกัน ไม่ใช่นำเงินภาษีที่ภาคเอกชนจ่ายมา ไปใช้แบบไม่ได้วางแผนอย่างรัดกุม อย่างที่เราเห็นในการอภิปราย งบประมาณแผ่นดินที่ผ่านมา

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์