ภาพรวมธุรกิจ ‘การบินไทย’ สายการบินแห่งชาติ ปี66 ดีต่อเนื่อง

29 ธันวาคม 2566 - 06:00

economy-tg-airplane-airline-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ปี 66 การบินไทยบริหารงานตามแผนฟื้นฟูฯ ทำกำไรต่อเนื่อง 9 เดือน

  • ทีมผู้บริหารการบินไทยคาดนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนด

อย่างที่รู้กันดีว่าการบินไทย ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องยาวนาน บวกกับวิกฤตโควิด ยิ่งทำให้หนี้สิน พะรุงพะรังมากขึ้น กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และในปี 2564 การบินไทย ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และเริ่มมีการปรับโครงสร้างภายในองค์กรมากมาย เช่น ลดต้นทุนดำเนินงาน ปรับสัญญาเช่า-เช่าซื้อเครื่องบิน รวมถึงการปรับลดจำนวนพนักงานและผู้บริหาร นำสินทรัพย์ออกมาขายทอดตลอด 

แผนฟื้นฟูกิจการ

การปรับแผนธุรกิจครั้งนั้น ส่งผลให้การบินไทยมีผลประกอบการดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดูได้จากงบการเงินของบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ในไตรมาส 3 ปี 2566 ระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน  เปรียบเทียบกับผลประกอบการในช่วงเดียวกันเมื่อปี 2565 

  • การบินไทย และบริษัทย่อย มีรายได้รวม 37,008 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 4,148 ล้านบาท โดยปี 2565 มีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท
  • การบินไทย และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน 7,719 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 3,799 ล้านบาท โดยปี 2565 มีกำไร 3,920 ล้านบาท
  • การบินไทย และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อน 6,326 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนอยู่ 4,785,171 ล้านบาท
  • ส่วน EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) มีกำไร 8,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,282 ล้านบาท 

ส่วนผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกในปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 

  • การบินไทย และบริษัทย่อย มีรายได้รวม 115,897  ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 50,330  ล้านบาท โดยปี 2565 มีรายได้รวม 65,567 ล้านบาท
  • การบินไทย และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน 29,330 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 29,878 ล้านบาท โดยปี 2565 มีขาดทุน 548 ล้านบาท
  • การบินไทย และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อน 27,579 ล้านบาท หากเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนอยู่ 11,237 ล้านบาท
  • EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) มีกำไร 31,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 24,958 ล้านบาท
economy-tg-airplane-airline-SPACEBAR-Photo01.jpg

และแผนดำเนินการต่อมาคือการควบรวมกิจการ ‘ไทยสมายล์’ ที่ล่าสุดการบินไทยได้นำเส้นทางในประเทศ จำนวน 9 เส้นทาง กลับมาทำการบินในตารางบินฤดูหนาว 2566 รองรับการเดินทางและการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมรับโอนเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำ กลับเข้าฝูง และรับโอนพนักงาน 800 คนเข้าสู่สังกัด การบินไทย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน มกราคม 2567

พร้อมกันนี้ บริษัทการบินไทยยังวางแผนซื้อและเช่าเครื่องบินใหม่ จำนวน 80 ลำ ที่เป็นเครื่องยนต์แฝด หรือ 2 เครื่องยนต์ ด้วยสิทธิในการซื้อพร้อมเงื่อนไขทางเลือกในการปรับเปลี่ยนรายละเอียดการซื้อตามความเหมาะสม ในขณะเดียวกัน มีรายงานเพิ่มเติมว่า การบินไทยใกล้บรรลุข้อตกลงเช่าซื้อเครื่องบินอีก 12 ลำที่เป็นรุ่นลำตัวหน้าแคบ

ทิศทางปีหน้า

แม้การบริหารงานการบินไทยในช่วงปี 2566 จะเป็นขาขึ้น ที่สามารถสร้างผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะปีหน้า การบินไทยต้องเริ่มทยอยชำระหนี้ ให้กับเจ้าหนี้หลายรายเฉลี่ยเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี 

อีกทั้งยังมีความเสี่ยง เกี่ยวกับการแข่งขันด้านการบิน สถานการณ์การเมือง การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังปรับตัวสูงขึ้น งานนี้ต้องดูว่าทีมผู้บริหารการบินไทยจะสามารถนำ สายการบินแห่งชาติ ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ในช่วงกลางปี 2567 ตามที่คาดการณ์ไว้ได้หรือไม่ และจะกลับมาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ดังเดิมได้หรือเปล่า เพราะหากทำได้จริง สายการบินไทย กลับมาผงาด เป็นสายการบินแห่งชาติอย่างสมภาคภูมิ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์