นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์การค้าและการส่งออกผลไม้สดของไทย โดยพบว่า ผลไม้สดเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงต้องให้ความสำคัญทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ที่ผลไม้บางชนิดมีการพึ่งพาตลาดส่งออกในสัดส่วนสูง เช่น ทุเรียน ลำไย และมังคุด มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 80 - 90 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด
ไทยส่งออกผลไม้ในรูปแบบผลสดมากที่สุด โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม - ตุลาคม) ไทยส่งออกผลไม้สดเป็นปริมาณรวม 1,747,957 ตัน ขยายตัวร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผลไม้ที่มีปริมาณการส่งออกสูงสุด
- ทุเรียน 965,284 ตัน
- ลำไย 274,064 ตัน
- มังคุด 245,049 ตัน
- มะม่วง 104,154 ตัน
- สับปะรด 36,618 ตัน
เมื่อคิดเป็นมูลค่า พบว่า ไทยส่งออกผลไม้สดเป็นมูลค่ารวม 5,065.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (173,187 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 31.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผลไม้ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด
- ทุเรียน 3,998.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (136,579 ล้านบาท)
- มังคุด 494.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (16,902 ล้านบาท)
- ลำไย 312.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,764 ล้านบาท)
- มะม่วง 86.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,950 ล้านบาท)
- ส้มโอ 31.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,095ล้านบาท)
โดยตลาดส่งออกหลักของไทยอันดับ 1 คือ ตลาดจีน มีมูลค่าส่งออกรวม 4,639.0ล้านเหรียญสหรัฐ (158,566 ล้านบาท) มีสัดส่วนร้อยละ 91.6 ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดของไทย รองลงมา คือ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ มีสัดส่วนร้อยละ 2.0, 1.6, 1.0 และ 0.8 ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดของไทย ตามลำดับ
ถึงแม้จีนจะเป็นในผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่ของโลก และความต้องการนำเข้าผลไม้สดของจีนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยยังต้องเผชิญความท้าทายท่ามกลางการแข่งขันในตลาดจีน โดยเฉพาะกับเวียดนาม
ปี 2565 จีนมีอัตราการนำเข้าผลไม้ทั้งหมดจากเวียดนามเติบโตกว่าร้อยละ 41 ขณะที่การนำเข้าจากไทยหดตัวร้อยละ 4 ซึ่งผลไม้สำคัญ คือ ทุเรียน โดยในปี 2565 จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดจากไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 95 และนำเข้าจากเวียดนามร้อยละ 5 จากเดิมที่ไทยเคยครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนทั้งหมด
แต่ล่าสุดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-ตุลาคม) จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดจากไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 และนำเข้าจากเวียดนามเพิ่มเป็นร้อยละ 30 จะเห็นได้ว่าหลังจากที่จีนเริ่มอนุญาตการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม ก็ทำให้โครงสร้างส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทุเรียนเวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ยาวนานกว่า ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดจีนได้ในช่วงนอกฤดูกาลผลิตของไทย
นอกจากนี้ เวียดนามยังมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกับจีนทำให้การขนส่งใช้ระยะเวลาสั้นและมีต้นทุนต่ำกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ทุเรียนของไทยในตลาดจีนยังต้องรับมือกับผู้เล่นหน้าใหม่อย่างฟิลิปปินส์ ที่จีนเพิ่งอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนได้เป็นประเทศที่ 3 เมื่อเดือนมกราคม 2566 และมาเลเซียที่ได้ยื่นขออนุมัติการส่งออกทุเรียนเข้าสู่ตลาดจีนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติการส่งออกทุเรียนเข้าจีนในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตมาเลเซีย – จีนในปีหน้านี้
นภินทร กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลไม้เป็นสินค้าที่ต้องให้ความสำคัญทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ผลไม้สดของไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดจีนเป็นหลัก ดังนั้น ต้องเร่งเจาะตลาดส่งออกศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักเพียงตลาดเดียว ขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษาส่วนแบ่งในตลาดส่งออกหลักอย่างจีนควบคู่ไปด้วย