กลายเป็นเรื่องสร้างความสับสนให้กับสังคมไม่น้อย หลังจากสภาพัฒน์ฯ หรือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติออกมาแถลงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 3 เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจไทยวิกฤติ หรือไม่วิกฤติกันแน่
เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาข้อสรุป เพราะหากเราไม่สามารถวินิจฉัยอาการป่วยของเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจน ในที่สุดแล้วอาจจะทำให้การให้ยาเพื่อรักษาอาการผิดพลาด และส่งผลให้อาการลุกลาม จากอาการป่วยแบบเรื้อรัง กลายเป็นทำให้สถานการณ์ทรุดลงฉับพลัน จนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ หรือ เข้าขั้น ‘โคม่า’ ไปได้เลย ในทางตรงข้ามหากค่อนข้างชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้กำลังวิกฤติจริงๆ การให้ ‘ยาแรง’ โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อ ‘ปั้ม’ หัวใจก็อาจมีความจำเป็น และเร่งด่วนจริงๆ
เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าในมุมมองของ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย นายกรัฐมนตรีฯ เศรษฐา แทบจะย้ำแล้วย้ำอีกวันละสามเวลาหลังอาหาร ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติ ยิ่งพอเห็นตัวเลข GDP ไตรมาส 3 โตแค่ 1.5% ถึงกับ ‘ตกอกตกใจ’ และ ‘ฟันธง’ ว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติและจำเป็นต้องกระตุ้น โดยการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทย 50 ล้านคน เอาไปใช้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ในมุมมองที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่ง ที่มาจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ดูแลในด้านงานวิจัยอย่างน้อย 2 สำนัก คือ เกียรตินาคินภัทร และ อินโนเวสต์ เอ็กซ์ ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีมุมมองว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่มีแนวโน้มจะเดินไปสู่วิกฤติได้ทุกเวลา เนื่องจาก เรากำลังเผชิญ 2 สถานการณ์พร้อมกับ คือ เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ และศักยภาพที่ไม่อยู่ไม่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต จึงทำให้เศรษฐกิจไทย ตกอยู่ในสภาพเหมือน ‘กบต้ม’ ที่กำลังจะถึง ‘จุดเดือด’ และวิกฤติในที่สุด
ในมุมองของ เกียรตินาคินภัทร ดร.พิพัฒน์ เหลือนฤมิตชัย และ ดร.ปิยะศักดิ์ มานะสันต์ จากอินโนเวสต์ เอ็กซ์ เห็นสอดคล้องกันว่า การที่ GDP ไตรมาส 3 โตเพียง 1.5% เทียบกับไตรมาสปีก่อน และโตเพียง 0.8% เทียบกับไตรมาส 2 ซึ่งต่ำกว่าที่หลายคนคาดไว้ ทั้งๆ ที่เมืองก็เปิดแล้ว นักท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า “เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าสุดๆ จนบางคนเรียกวิกฤติ” แล้ว
หากดูไส้ใน ก็ชัดเจนว่า เป็นผลมาจากการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ยังหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การบริโภคภายในประเทศยังโตดีมากๆ โตถึง 8.1% เทียบกับปีก่อน! และถ้านับเอาจากฝั่งอุปสงค์หรือ Demand ฝั่งการใช้จ่าย (ใครเรียนเศรษฐศาสตร์มา คงจำสมการ Y=C+I+G+X-M ได้) เศรษฐกิจโตถึง 11.7%! ส่วนหนึ่งเพราะการนำเข้าก็หดตัวไปด้วย ซึ่งต้องบอกว่า ดีมากๆ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในประเทศ
แต่หากหันไปดูตัวเลขข้อมูลฝั่งการผลิตหรือ ‘supply’ ก็ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทย แย่กว่าที่คาด และแย่กว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งคำอธิบายสำคัญคือตัวเลข ‘ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง’ (changes in inventories)
ดร.ปิยะศักดิ์ จากอินโนเวสต์ เอ็กซ์ ชี้ให้เห็นว่า สินค้าคงคลังมีการหดตัวลงค่อนข้างแรง คือ หดตัวถึง -7.1% หรือราว 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่งออก เช่น ข้าว น้ำตาล อัญมณี พลาสติก อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และน้ำมันดิบ ที่สะท้อนว่า ตลาดส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นตัว จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และทำให้ ผู้ส่งออกไม่นำเข้าวัตถุดิบเข้ามาเพื่อผลิต และ ไม่สต๊อคสินค้า กลับเร่งระบายสต๊อคเป็นหลัก
ดร.พิพัฒน์ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า หากดูตัวเลขอื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงต่อเนื่อง คุณภาพหนี้สินเชื่อรายย่อย และอัตราเพิ่มของสินเชื่อธนาคาร น่าจะเป็นการบ่งบอกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัว และมีโอกาสจะชะลอตัวต่อไปด้วย แม้ว่าเครื่องส่งอย่างการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงส่งที่สำคัญ
เห็นตัวเลขแบบนี้ จึงเป็นเรื่องที่สร้างความสับสนว่า สรุปแล้ว เราจะบอกว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีกันแน่ ซึ่งจะนำไปสู่คำถามสำคัญด้วยว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นหรือไม่ ?
ในมุมมองของ ดร.ปิยะศักดิ์ เขาเชื่อว่า หากเรามองในเชิงการบริหารองค์กร วิกฤติน่าจะมี 3 ระดับ คือ วิกฤติที่คืบคลานเข้ามา (Creeping Crisis) วิกฤติที่เนิบช้า (Slow-burn Crisis) และสุดท้าย คือ ขั้นวิกฤติทันที (Sudden Crisis) ซึ่งหากเทียบกับ ทฤษฎี ‘ต้มกบ’ ก็คือ เริ่มวิกฤติที่คืบคลานมาจากการเปิดไฟต้มน้ำ จนน้ำเริ่มอุ่นขึ้นเรื่อย ไปจนถึง จุดน้ำเดือด ที่เกิดวิกฤติ
ดูเหมือนทั้งคู่จะมองว่า เศรษฐกิจไทย อยู่ในระดับที่ 2 คือ เราอยู่ในสถานการณ์วิกฤติที่เนิบช้า และกำลังมีสถานะที่ร้อนจนใกล้ถึงจุดเดือด เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ‘ติดหล่ม’ ตกอยู่ในสภาวะที่มีศักยภาพเติบโตต่ำ ขาดการลงทุนในอุตสาหกรรมยุคใหม่มานาน ทำให้เศรษฐกิจเริ่มซึมตัวลง ไม่เติบโต และเมื่อเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวไปทั่วโลกอย่างในเวลานี้ ก็ยิ่งซ้ำเติมให้เกิดสภาวะ เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ซ้ำเติมเข้าไปอีก ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติได้ในอนาคต
หากเราวินิจฉัยอาการป่วยของเศรษฐกิจไทยว่ากำลังเดินไปสู่วิกฤติ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ประเทศไทยจะอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ต้องมีการคุยกันเรื่องนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง เพื่อยกศักยภาพของเศรษฐกิจท่ามกลางความท้าทายทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายที่อาจจะยังไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่มีความจำเป็นในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น เรื่องนโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะ การปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง การปฏิรูปนโยบายการแข่งขันเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ การลดข้อจำกัดของกฎระเบียบ การลดการคอร์รัปชั่น การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะกำลังเดินลงไปสู่เส้นทางที่เราไม่อยากจะไป
ปัญหาใหญ่ก็คือ ในทางการเมือง พรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลทุกยุคทุกสมับ ต่างก็ต้องการเร่งสร้างผลงานให้ประชาชนเห็นให้เร็วที่สุด และต้องการเดินหน้านโยบายที่ตัวเองหาเสียงเอาไว้ เราจึงเห็นภาพของการออกมาตรการประเภท Quick Win ที่เน้นเอาใจฐานเสียงมากกว่าที่จะไปเน้นเรื่องของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลานาน
ในความเห็นของ ดร.ปิยะศักดิ์ เขามองว่า ในระยะเปลี่ยนผ่านที่ต้องใช้เวลา หากไม่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยทรุดไปจนถึงจุดวิกฤติ ก็อาจมีความจำเป็นที่ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการ มีแรงกระตุ้นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตแทนที่จะเน้นการระบายสต๊อคที่มีอยู่
คำถามก็คือ มาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นควรใช้วิธีการใด ระหว่างการทุ่มเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท แจกให้กับคนไทย 50 ล้านคน หรือใช้มาตรการผสมผสาน ทั้งนโยบายด้านการเงิน การคลัง ให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม
ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามเน้นย้ำว่า ไม่มี Plan B ที่จะมาแทนแผนการออก พรบ.กู้เงิน ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคอีกหลายด่าน แต่บางทีความพยายาม ‘ดันทุรัง’ ในตอนนี้ ซึ่งอาจจะล้มเหลวในที่สุด อาจจะกลายเป็นการนำประเทศเดินเข้าไปสู่วิกฤติเร็วขึ้นเสียเองก็เป็นได้