รู้ทันกลลวง แอปกู้เงินออนไลน์

20 ก.ค. 2566 - 07:10

  • เปิดกลลวงมิจฉาชีพใช้วิธีหลอกเหยื่อให้กู้เงินออนไลน์

  • ป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวง ก่อนสูญเงินจนหมดตัว

Economy_Thai_Money_Online_Borrow_money_Defraud_SPACEBAR_Thumbnail_30b757f3bc.jpeg
การกู้เงินในยุคปัจจุบัน เรียกว่าทำได้ง่าย รวดเร็วผ่านมือถือได้ แต่สิ่งที่ผู้กู้ ต้องรู้ คือ ผู้ให้กู้ที่ไม่คิดดอกเบี้ย หรือทวงถามหนี้โหด หรือไม่ใช่มิจฉาชีพที่จะมาหลอกเอาเงินเรา ยิ่งได้รับ ‘SMS’ หรือมีคน ‘โทรศัพท์’ หรือ ‘แอดไลน์’ ความสะดวกสบายตรงนี้ ที่เป็นจุดที่ทำให้มิจฉาชีพสร้าง ‘แอปฯ กู้เงินออนไลน์’ ขึ้นมา เพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัวของเราจากการกรอกข้อมูลลงไป เพื่อให้รู้ทันมุกใหม่ๆ ของแก๊งมิจฉาชีพ มารู้ทันกลลวงวิธีแอปฯ กู้เงินออนไลน์ของมิจฉาชีพนี้กัน

กลลวงของแก๊งมิจฉาชีพรูปแบบ ‘แอปฯ กู้เงินออนไลน์’ 

แบบที่ 1: ส่ง SMS พร้อมแนบลิงก์ มีข้อความว่า กู้เงิน xxxxx บาท ผ่าน ดอกเบี้ยถูก 
วิธีนี้จะเน้นคำว่าอัตราดอกเบี้ยถูก เพื่อล่อตาล่อใจ ให้กดเพื่อดาวน์โหลดแอป และหากเผลอกดลิงก์ไป ก็จะให้เราใส่ข้อมูลส่วนตัว ในช่วงเวลาที่เรากรอกข้อมูลส่งนั่นแหละ เป็นช่วงที่มิจฉาชีพกำลังเอาข้อมูลของเราไปเรียบร้อยแล้ว 

แบบที่ 2 : โฆษณาชวนเชื่อบนโซเชียลมีเดีย 
ด้วยความที่ผู้คนเข้าถึงโซเชียลมีเดีย เช่น เว็บไซต์, Facebook, Instagram เป็นต้น มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แก๊งมิจฉาชีพก็พยายามหาช่องโหว่เพื่อหาเหยื่อเช่นกัน อย่างเช่นการซื้อโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย เพื่อล่อให้กดดาวน์โหลดแอปฯ กู้เงิน โดยจะมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ดึงให้ผู้คนสนใจและกรอกข้อมูลลงไปในที่สุด 

แบบที่ 3: แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาเหยื่อโดยตรง 
วิธีที่หลายๆ คนอาจจะเคยโดนก่อกวนเป็นประจำ แก๊งคอลเซนเตอร์พวกนี้จะโทรหาเหยื่อโดยหามุกต่างๆ นานาเพื่อหลอกเอาข้อมูล หรือหลอกให้โอนเงินโดยทันที และมุกอย่างแอปฯ กู้เงินออนไลน์ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน โดยจะโน้มน้าวโดยอ้างว่าเป็นตัวแทนจากธนาคารมีแอปฯ สินเชื่อมานำเสนอ หากสนใจก็สามารถแอดไลน์ และรอรับลิงก์เพื่อดาวน์แอปกู้เงินที่ว่านั้นได้ 

กลลวงของมิจฉาชีพจะค่อยๆ ตะล่อมโน้มน้าวให้เหยื่อเชื่อใจ และหลุดให้ข้อมูล เช่น เอกสารอย่างบัตรประชาชน สมุดบัญชีเงินฝาก จากนั้นจะอ้างสารพัดเหตุผลให้โอนเงินให้ ร้ายแรงสุดคือเอาข้อมูลของเราไปทำในเรื่องผิดกฏหมาย 

ป้องกันภัยก่อนสูญเงิน 

ตรวจสอบเครื่องหมายว่าเป็นทางการหรือไม่ 
เช็กข้อมูลชื่อแอป หรือที่มาที่ไปก่อนว่าผู้ให้บริการแอปกู้เงินที่เราจะดาวน์โหลดนั้นเป็นใคร โดยข้อมูลในส่วนนี้สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย 

เลือกดาวน์โหลดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ 
แหล่งที่มาของแอปการเงินที่จะต้องในการทำธุรกรรมออนไลน์ใดใดควรมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันการถูกดูดข้อมูลส่วนตัวไป 

อ่านรายละเอียดเงื่อนไขให้ชัดเจน 
การทำธุรกรรมการเงินบนโลกออนไลน์อย่าใจร้อน โดยเฉพาะการกกู้เงิน ขอสินเชื่อ เพราะเราไม่รู้ได้เลยว่าอีกฝ่ายน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ควรอ่านข้อมูลอย่างละเอียดให้ครบทุกด้านจนแน่ใจ ไม่ว่าจะจำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาคืนเงิน เพื่อไม่ให้โดนเอาเปรียบหรือถูกหลอก 

ยิ่งช่วงนี้มิจฉาชีพระบาดกันค่อนข้างหนัก เพื่อเป็นการป้องกัน และรู้ทันภัยการเงินจากแก๊งหลอกเงิน ต้องหมั่นตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตัวเองอยู่เสมอ หรือถ้าไม่ชัวร์ว่าแอปฯ หรือลิงก์นั้นจะถูกต้องจริงหรือเปล่า อย่ารีบกดลิงก์หรือกรอกข้อมูล ต้องเช็กให้ชัวร์ก่อน จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวง 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์