CNBC Travel เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นต่อการเดินทางของชาวจีนในต่างประเทศ ของ ไชน่า เทรดดิ้ง เดสก์ บริษัทด้านการตลาดในจีน ซึ่งปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับความนิยมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่ติดในระดับ Top 5 แต่ร่วงลงไปอยู่ในอันดับ 6 เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่นที่ร่วงลงไปอยู่อันดับ 8
ที่ผ่านมา ประเทศไทย และ ญี่ปุ่น เคยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักเดินทางชาวจีนมาหลายปี แต่ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ที่ผ่านมา ความนิยมกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจากการสำรวจล่าสุดช่วงไตรมาส 3/2566 โดยประเทศไทยร่วงลงสู่อันดับ 6 และญี่ปุ่นร่วงลงสู่อันดับ 8 ตามหลังเกาหลีใต้ มาเลเซีย และออสเตรเลียในแง่ของจุดหมายปลายทางในวันหยุดพักร้อนครั้งต่อไปของนักเดินทางชาวจีน ขณะที่สิงคโปร์กลับทะยานขึ้นมาครองอันดับ 1 หลังถูกยกเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับนักเดินทางที่สุดประจำปี 2566

CNBC Travel ระบุว่าถึงปัจจัยที่มีผลต่อความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวทั้งสองประเทศ สำหรับประเทศญี่ปุ่น คือ เรื่องของความปลอดภัยทางด้านอาหาร ( Food Safety) โดย ซูบรามาเนีย แบท ประธานเจ้าที่บริหารของไชน่า เทรดดิ้ง เดสก์ เปิดเผยรายละเอียดของผลการสำรวจว่า ข่าวการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้ว ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องการทานอาหารที่ดีมีคุณภาพเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ
ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบกับความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย คือ ความกังวลเรื่องความปลอดภัย ของชีวิตและทรัพย์สิน จากแก๊ง scamming ทำให้ประเทศไทยที่เคยได้รับความนิยมในฐานะแหล่งท่องเที่ยวหรูหรากำลังได้รับผลกระทบหนักทางจิตวิทยา ซึ่งมาจากภาพยนตร์จีนชื่อดัง 2 เรื่อง คือ ‘Lost in the Stars’ และ ‘No More Bets’ ซึ่งต่างก็เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นและไม่ได้ถ่ายทำในประเทศไทย แต่ชาวจีนบางรายมองว่าเนื้อเรื่องใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริงที่ตกเป็นข่าวใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ภาพยนตร์เรื่อง ‘Lost in the Stars’ อิงมาจากกรณีที่หญิงชาวจีนถูกสามีผลักตกหน้าผาในไทยเมื่อปี 2562 ส่วนเรื่อง ‘No More Bets’ เป็นเรื่องราวของโปรแกรมเมอร์หนุ่มกับนางแบบสาวชาวจีนคู่หนึ่ง ที่ถูกแก๊งค้ามนุษย์หลอกลวงไปทำงานในแก๊งสแกมเมอร์ที่ประเทศหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่ได้ระบุชื่อกลับมีลักษณะใกล้เคียงกับประเทศไทย
ที่ผ่านมา หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รายงานข้อมูลว่ามีการหลอกลวงผู้คนนับแสนให้เข้าไปทำงานเกี่ยวกับในกลุ่มมิจฉาชีพสแกมเมอร์ และคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณพรมแดนนอกประเทศไทย ทั้งในกัมพูชา ลาว และเมียนมา และบ่อยครั้งก็อยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เหล่านี้ไม่เคร่งครัดเพื่อความคล่องตัวในการดึงดูดการลงทุน จึงมีทั้งปัญหาสแกมเมอร์ การค้ายาเสพติด และค้ามนุษย์ ซึ่งมีรายงานว่าเหยื่อส่วนใหญ่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และลาตินอเมริกา
ทั้งนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากจำนวน 11 ล้านคนในปี 2019 ซึ่งเป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงสุดของไทย ในปัจจุบันผลสำรวจช่วงเดือนกันยายน มียอดนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาไทยเพียง 2.5 ล้านคน ต่ำกว่าเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ตั้งไว้ปีนี้จำนวน 5 ล้านคน