กพร. แจง ไทย ไม่ได้มี แร่ลิเทียมในไทย อันดับ 3 ของโลก แต่เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน
หลังจาก รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก บางส่วนระบุว่า .. แสดงความเห็นและวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ว่าจำนวน 14 ล้านตันนั้น อาจไม่ใช่ตัวเลขของแร่ลิเทียม ทั้งหมด โดยแร่ 14 ล้านตัน คือ ปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า 'หินเพกมาไทต์'
อาจารย์เจษ บอกว่า “_ผมว่านักข่าวน่าจะเข้าใจผิดกันนะครับ เพราะตัวเลข 14.8 ล้านตัน ที่เป็นข่าวกัน ว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า หินเพกมาไทต์ ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45%_ และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน ... เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ กิโลกรัม _เท่านั้นครับ 6-7 หมื่นตัน แค่นั้นเองครับ_ !?
#ถ้าผมคำนวณหรือเข้าใจอะไรผิดพลาด รบกวนช่วยเข้ามาแลกเปลี่ยนอธิบายให้ฟังด้วยนะครับ !” ซึ่งอาจารย์เจษ วิเคราะห์จากข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ตามรายละเอียดของข่าว ระบุว่า ถ้าเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า Tesla โมเดล S หนึ่งคัน ที่ใช้ธาตุลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม (อ้างอิง https://blog.evbox.com/ev-battery-weight) ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเทียมไป 62.6 ล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับ 62,600 ตัน แค่นั้นเอง !
ซึ่งตัวเลข 6.26 หมื่นตัน นี้ก็ใกล้เคียงกับปริมาณของธาตุลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ ปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน และมีเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งก็เท่ากับมีลิเทียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน ! จึงยังห่างไกลจากประเทศ Top10 อื่นๆ เป็นอย่างมาก

ทำให้ล่าสุด (19 ม.ค.2567) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่ กรมฯได้เผยแพร่ข่าวว่ามีการพบแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ที่แหล่งเรืองเกียรติ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา มีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตันมากเป็นอันดับ3ของโลก เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน และสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 25 จะนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน นั้น
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม
ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้