มี ‘เงินเก็บ’ หรือยัง? ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ ช่วยได้

31 ส.ค. 2566 - 02:32

  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งที่นายจ้างให้แก่พนักงาน

  • มีเงินก้อนไว้ใช้ยามเกษียณ และยังมีสิทธิประโยชน์ จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ต้องรู้

Economy-Thailand-Finance-ProvidentFund-Fund-Money-Retirementage-SPACEBAR-Thumbnail
นอกจากการออมของเราแล้ว รู้หรือไม่ว่าบางบริษัทเอกชน ก็มีสวัสดิการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund ให้ด้วย 

มาพูดถึง ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ กัน หากบริษัทนั้นมีให้ เรารู้จักสิทธิต่างๆ ของสวัสดิการที่เราจะได้รับ เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุด ก่อนเข้าทำงาน ต้องรู้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund นั้น เป็นสวัสดิการแบบไหน และมีประโยชน์อย่างไร ไม่อย่างนั้นเราอาจจะสงสัยได้ว่า ทำไมเงินเดือนที่ได้มาต้องโดนหักไปทุก ๆ เดือน 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืออะไร 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้าง และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จัดตั้งให้กับลูกจ้าง เพื่อเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้างมีเงินใช้หลังเกษียณ โดยลูกจ้างสามารถเลือกจ่าย ‘เงินสะสม’ ได้ตั้งแต่ 2% - 15% ของเงินเดือน และนายจ้างจะจ่าย ‘เงินสมทบ’ เพิ่มให้อีกตามนโยบายของบริษัท ถือเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจกว่าการลงทุนรูปแบบอื่นตรงที่ ‘เงินสมทบจากนายจ้าง’ เปรียบเสมือนเราได้เงินจากบริษัท ‘เพิ่ม’ 

เงินสมทบ คือ เงินที่บริษัทให้ จะขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท ว่าเป็นแบบคงที่ตลอดอายุงานของพนักงาน หรือจะเพิ่มให้สูงขึ้นตามอายุงานก็ได้ เช่น ทำงานปีที่ 0-3 บริษัทจะสมทบเงินให้ 3%, ทำงานปีที่ 3-5 บริษัทจะสมทบเงินให้ 5%, ทำงานปีที่ 5-7 บริษัทจะสมทบเงินให้ 7% และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปีที่ทำงานสูงสุด คือ 15%  

จุดเด่นของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  

  • ได้เงินสมทบจากนายจ้าง 
  • สร้างวินัยการออมให้ลูกจ้าง โดยออมก่อนใช้จ่าย 
  • ช่วยให้ลูกจ้างมีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ 
  • ลูกจ้างสามารถนำเงินที่สะสมไปหักลดหย่อนภาษีได้ 
  • บริหารโดยมืออาชีพ มีนโยบายการลงทุนหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ 

สิทธิประโยชน์ของ ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ 

  • ได้รับเงินสะสม ผลประโยชน์จากเงินสะสมเต็มจำนวน ในแต่ละเดือนที่จ่ายเงินสะสมไปในกองทุน เมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุนก็จะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด 100%  
  • ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบริษัทมีข้อกำหนดในการจ่ายเงินสมทบอย่างไร โดยส่วนใหญ่จะได้รับเงินสมทบ และผลประโยชน์จากเงินสมทบในอัตราที่มากขึ้นตามอายุงาน  เช่น ทำงานไม่ถึง 1 ปี จะไม่ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ, ทำงาน 1-5 ปี จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ 50% และทำงาน 10 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ 100% 
  • ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เมื่อสิ้นสมาชิกภาพ จะได้รับเป็น ‘เงินก้อน’ จำนวนหนึ่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ เงินสะสมของเรา, เงินสมทบของนายจ้าง,​ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบ 
หากเรานำเงินออกจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด’ เงินสะสมของเรา จะได้รับยกเว้นภาษี แต่เงินที่เหลือ จะต้องคิดถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย ซึ่งการสิ้นสมาชิกภาพในแต่ละกรณี จะมีเงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แตกต่างกัน  

กรณีลาออกจากงาน หรือเกษียณอายุุ หากยังไม่ต้องการใช้เงินหรือต้องการเก็บเงินก้อนนี้ไว้ใช้ยามเกษียณอายุ สามารถขอคงเงิน ไว้ในกองทุนตามนโยบายการลงทุนที่เลือกไว้ โดยติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพื่อแจ้งระยะเวลาคงเงินที่ไม่ขัดกับข้อกำหนดของทางกองทุน 

กรณีเกษียณอายุ สามารถขอให้กองทุนทยอยจ่ายเงินให้เราเป็นงวดๆ คล้ายเงินบำนาญได้ด้วย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละกองทุน  
  • สิทธิในการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปไว้ที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  
การโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปไว้ที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ช่วยให้เราได้ออมเงินต่อเนื่องในระยะยาว โดยเรามีอิสระในการเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่ากับการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์