มีบางคนกล่าวไว้ว่า ในแต่ละช่วงเวลา ตัวชี้วัดแนวโน้มของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ นอกจากจะวัดจากตัวเลข GDP แล้ว ยังสามารถดูได้จาก ดัชนีหุ้น ของแต่ละประเทศ เพราะเป็นตัวสะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงได้เป็นอย่างดี
หากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่ประเทศไทย เผชิญกับวิกฤติจากโควิด-19 เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นกลับมาสู่จุดเดิมได้เลย เห็นได้ชัดจาก ระดับดัชนีหุ้นไทย ที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 1,729 จุด เมื่อกลางปี 2019 และดิ่งลงมาต่ำสุดที่ระดับ 1,127 ในเดือนมีนาคม 2020 แต่กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่แถว ๆ ระดับ 1,500 จุด มาอย่างยาวนาน
เพราะเหตุนี้การกลับมาครองอำนาจครั้งใหม่ ของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่มีเดิมพันสำคัญ คือ การปลุกเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตื่นขึ้นจากสภาพคนป่วย ให้กลับมาลุกขึ้นวิ่งได้อีกครั้ง นอกเหนือจากนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ในด้านการคลัง ที่จะมีการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปให้ถึงมือประชาชน และภาคธุรกิจแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะเป็นเสมือนตัวจุดชนวน หรือสารตั้งต้นในการปลุกเศรษฐกิจไทยแล้ว รัฐบาลยังมีแผนที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศทั้งทางตรง และทางอ้อม
ตลาดทุน จึงเป็นกลไกสำคัญอีกตัวหนึ่ง ที่อยู่ในเป้าหมายของ นายกฯ เศรษฐา ที่จะมาใช้ช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาคึกคัก
เพราะเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจว่า ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็ประกาศจุดยืนชัดเจน ว่าตลอด 4 ปีของรัฐบาลจะไม่มีการเก็บภาษีขายหุ้น โดยหวังว่าจะเป็นปัจจัยข่าวบวกที่จะช่วยทำให้ตลาดหุ้นกลับมาคึกคัก แต่ปรากฏว่าตลาดหุ้นกลับไม่ตอบรับ กลับทรุดหนักลงเสียอีก
การซื้อขายหุ้นวันจันทร์ที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันแรกหลังจากนายกฯ เศรษฐา ประกาศไม่เก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งนักลงทุนคาดหวังว่าตลาดหุ้นจะคึกคักดี แต่ดัชนีหุ้น กลับปรับฐานลูงตั้งแต่เปิดการซื้อขาย ก่อนปิดลงที่ 1,527.57 จุด ลดลง 14.46 จุด มูลค่าซื้อขายทั้งสิ้น 42,566 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระทรวงการคลังประกาศจะเก็บภาษีการขายหุ้นในอัตรา 0.10% ของมูลค่าการขายหุ้น หรือเก็บภาษีขายหุ้น 1,000 บาท ต่อการขายหุ้น 1 ล้านบาท ไม่ว่าจะขายขาดทุนหรือขายมีกำไรก็ตามทำให้เกิดแรงต้านจากคนในแวดวงตลาดหุ้น เพราะจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อนักลงทุนที่จะมีต้นทุนสูงขึ้น ต่างชาติจะลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่กระทรวงการคลัง ก็ยังยืนกรานที่จะเดินหน้าเก็บภาษีขายหุ้นต่อไป เพียงแต่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไม่ทัน เพราะเป็นช่วงปลายวาระของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
แผนเก็บภาษีขายหุ้นจึงค้างอยู่ที่กระทรวงการคลัง รอรัฐบาลชุดใหม่ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ซึ่งรัฐบาลเศรษฐา ได้ตัดสินใจแล้วที่จะไม่เดินต่อ และพับแผนเก็บภาษีขายหุ้นเข้าลิ้นชักอย่างน้อย 4 ปี
ต้องยอมรับว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นยามนี้ ค่อนข้างอ่อนไหว นอกจากมีปัจจัยลบจากภายนอกมาเป็นตัวกดดัน ยังคงมีการเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ โดยยอดขายหุ้นสุทธิสะสมจากสิ้นปี จนถึงกลางเดือนกันยายน มีจำนวนสูงถึงกว่า 1.5 แสนล้านบาท โดยไม่มีสัญญาณว่าจะมีปัจจัยอะไรที่จะทำให้ ต่างชาติหวนกลับมาซื้อหุ้นไทย
นักลงทุนส่วนใหญ่ มองว่าการปรับฐานลงของตลาดรอบนี้จะหลุด 1,500 จุดหรือไม่ยังต้องลุ้น แต่เป้าหมายดัชนีปลายปี 1,600 จุดที่บรรดากูรูหุ้นมองไว้อาจไกลเกินฝัน
บรรยากาศในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ ยังคงอยู่ในสภาพ ‘ข่าวร้ายยังมี ข่าวดียังไม่มา’สภาพตลาดจึงอยู่ในอาการซึมลึกไปเรื่อย ๆ
ในเวลาเดียวกัน ในช่วงตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ก็เกิดกรณีอื้อฉาวหลาย ๆ เรื่องกับของบริษัทจดทะเบียนหลาย ๆ ราย ตั้งแต่กรณีหุ้น MORE ตามมาด้วย ปัญหาเรื่องหุ้นกู้ผิดนัดของ STARK ALL และ JKN ที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบรรดาบริษัทจดทะเบียนเริ่มสั่นคลอน และเริ่มมีการตั้งคำถามถึง กลไกการกำกับและตรวจสอบของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือ??
ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าคนในแวดวงการเมืองที่พอจะมีความรู้ และเข้าใจเรื่องราวในแวดวงตลาดทุนอาจจะมีไม่มากนัก และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับตลาดทุนมากนัก ตรงข้ามกับรัฐบาลชุดนี้ที่ มีนายกฯ มาจากภาคเอกชน อย่าง เศรษฐา และยังมีประธานที่ปรึกษา คือ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่เคยเป็นถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ
คงเป็นเพราะเหตุนี้จึงเริ่มมีกระแสข่าวออกมาจาก พรรคเพื่อไทย ว่า นายกฯ เศรษฐา กำลังมีแนวคิดที่จะเข้าไปสังคยานาเรื่องวุ่น ๆ ในแวดวงตลาดทุน และเป้าหมายสำคัญก็คือ การปรับโครงสร้างของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ และอาจจะลึกลงไปจนถึงการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อยกระดับการกำกับดูแลนักลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น ทั้งการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้น
ที่ผ่านมา คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ 11 คน เป็น โดยเป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ กลต. 6 คน บริษัทสมาชิก จำนวน 4 คน และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการเป็นกรรมการโดยตำแหน่
วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มิใช่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง 10 ท่าน ให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และเมื่อครบวาระอาจได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งได้อีก แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกัน เกิน 2 วาระไม่ได้ สำหรับผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละไม่เกิน 4 ปีและอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
เชื่อกันว่าอีกไม่นาน อาจเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แถวย่านรัชดาฯ ซึ่งจะเป็นจากการปรับโครงสร้างใหม่ของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายขึ้น
คนใกล้ชิดกับ โต้ง-กิตติรัตน์ จะทราบดีว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการมีกรรมการที่มาจากการคัดสรรของ กลต.ถึง 6 คน เพราะการมีคนจาก กลต.ถึง 6 คน จาก 11 คน ทำให้ กลต.สามารถกำหนดทิศทางของ ตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างง่ายดาย ในเวลาเดียวกัน ที่ผ่านมา ตัวแทนอีก 4 คน ก็ขาดความหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นตัวแทนของฝั่งโบรคเกอร์ ไม่ได้มาจากผู้มีส่วนร่วมในด้านอื่น เช่น จาก ฝั่งกองทุน หรือ นักลงทุน ทำให้ บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่าน ๆ มากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนแวดวงตลาดทุน และอดีตข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงการคลัง หรืออดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ
กรรมการตลาดหลักทรัพย์ที่ขาดความหลากหลาย และเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในตลาดทุน นำไปสู่ข้อจำกัดแนวความคิดในการแก้ปัญหาตลาดหุ้น และขาดความฉับไวในการปกป้องนักลงทุน เห็นได้ชัดจากความเสียหาย กรณี ของการปั่นหุ้นMORE ไปจนถึงการแต่งบัญชีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ STARK ซึ่งถือเป็นความหละหลวม และบกพร่องค่อนข้างร้ายแรงของตลาดหลักทรัพย์ฯ และ กลต. แถมยังดำเนินการแก้ปัญหาค่อนข้างล่าช้า จนสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างหนัก
ในเวลาเดียวกัน อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานภายใน ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของฝ่ายกำกับให้มีความเข้มข้น มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น มุ่งการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่เริ่มต้นมีสัญญาณของปัญหา และมีฝ่ายที่จะตรวจสอบงบการเงิน รวมทั้งธุรกรรมต่าง ๆ ของบริษัทจดทะเบียน โดยเมื่อพบปัญหาที่อาจสร้างความเสียหายให้ผู้ลงทุน ต้องเข้าแก้ไขทันที ไม่ปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่กับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย เชื่อกันว่า การรื้อโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ครั้งใหญ่ กำลังจะเกิดขึ้น เพียงแต่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะหากเดินเกมรุกแบบโฉ่งฉ่างเกินไป ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และยิ่งไปฉุดให้ดัชนีหุ้นไทยทรุดหนักลงไปอีก
ตอนนี้ ทีมงานของ นายกฯ เศรษฐา กำลังหาข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลง คนในคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรจะทำอย่างไร เพราะเข้าใจว่า กรรมการหลายคนก็กำลังจะหมดวาระ 3 ปี จึงอาจจะไม่ต่ออายุ และปรับเปลี่ยนคนใหม่เข้าไป ก่อนที่จะปรับโครงสร้างใหญ่อีกครั้งในระยะต่อไป แต่เชื่อได้ว่า ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’ กำลังจะพัดมาแถวย่านรัชดาฯ อย่างแน่นอน