อนาคต Top News หลังสนธิญาณ แปรพักตร์

13 พ.ย. 2566 - 10:16

  • เมื่อผู้ร่วมก่อตั้งอย่างสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม หันไปซบพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นคู่แค้น

  • จับตานายทุนสื่อ คีรี กาญจนพาสน์ จะตัดสินใจอย่างไรกับอนาคตของ Top news

  • ภารกิจของ คีรี และ Top news ยังไม่เสร็จสิ้น

economy-top-news-bts-tv-SPACEBAR-Hero.jpg

การหันไป ‘สวามิภักดิ์’ คืนดีกับพรรคภูมิใจไทยของสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อันเป็นสาเหตุของการประกาศลาออกจากกรรมการ และทุกตำแหน่งในบริษัท ท็อปนิวส์ พร้อมแบะท่า ขายหุ้นให้กับผู้สนใจ สำหรับคนในแวดวงสื่อสารมวลชนยุคเดียวกับเขาไม่แปลกใจ เพราะนี่คือ คุณสมบัติเฉพาะตัวของสนธิญาณ ที่ทำให้เขาเป็นผู้อยู่รอด และสร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยอย่างเงียบ ๆ  ภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ความเกื้อกูลที่อนุทินมีให้กับสนธิญาณ เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว โดยบริษัท กรีนเนทของสนธิญาณ เคยรับงานสารคดีเรื่องแพทย์แผนไทย จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่สามารถส่งมอบงานได้ จะต้องถูกปรับ สนธิญาณต้องเข้าหา อนุทิน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ช่วยเจรจากับกรมการแพทย์แผนไทยฯ จนได้รับอนุญาตเลื่อนส่งงาน โดยไม่ถูกปรับ

เรื่องนี้ เกิดขึ้นหลังจาก สนธิญาณ ขายสำนักข่าวทีนิวส์ให้ค่ายเนชั่น ในยุคที่ถูก ฉาย บุนนาค เทคโอเวอร์แล้ว แม้หน้าจอเนชั่นจะมีปัญหากับพรรคภูมิใจไทย จนถูกแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาททั่วประเทศ แต่นั่นเป็นเรื่องของเนชั่น ไม่เกี่ยวกับสนธิญาณ

สนธิญาณ เข้าไปรับตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร ค่ายเนชั่นตอนต้นปี 2561 เขามีบทบาทในการกำหนดทิศทางข่าว ที่ทำให้คนข่าวเดิมที่อยู่กับเนชั่นมาก่อน รู้สึกว่า ‘บิดเบี้ยว’ ไปจากเดิม โดยเฉพาะในช่วงที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ชุมนุมขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้นปี 2563 เกิดกรณีอื้อฉาวที่ นักข่าวเนชั่นถูกจับได้กลางม็อบว่า แอบอ้างเป็นนักข่าวสำนักข่าวอื่น จนเกิดกระแส ‘แบนเนชั่น’ รณรงค์ให้กลุ่มผู้ประกอบการ ถอนโฆษณา กระทบกับรายได้ของบริษัท เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ ฉาย ต้องเจรจากับสนธิญาณ นำไปสู่การลาออกเมื่อปลายปี 2563

สนธิญาณพาทีมงานส่วนหนึ่งจากเนชั่น มาเปิดสถานีดาวเทียม โดยมีผู้สนับสนุน คือ คีรี กาญจนพาสน์ ให้ทุนและสถานที่สร้างสตูดิโอ ที่หน้าโครงการธนาซิตี้ ถนนเทพรัตน์ กม 13 

คีรี เจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู เป็นผู้ถือหุ้น เนชั่นอยู่แล้ว ในนามบริษัทยูซิตี้ ซึ่งเป็นหุ้นตกค้างในพอร์ตของยูซิตี้ หรือชื่อเดิม เอ็นพาร์ค ที่คีรีซื้อกิจการจากเสริมสิน สมะลาภา โดยไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารแต่อย่างใด

คีรี มีปัญหารุนแรงกับพรรคภูมิใจไทย ในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม และการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัญหาคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม.ไปแก้ไขทีโออาร์ หลังจากที่ขายซองประมูลไปแล้ว บริษัท บีทีเอส ของคีรี ซึ่งจะเข้าประมูลด้วย เห็นว่า รฟม. ทำผิด และเงื่อนไขใหม่เอื้อประโยชน์ให้กับคู่แข่ง จึงไปฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนทีโออาร์ใหม่ กลับไปใช้ทีโออาร์เดิม 

หลังจากนั้น รฟม. ล้มประมูล แก้ทีโออาร์แล้วเปิดประมุลใหม่ แต่ทีโออารใหม่ เพิ่มเงื่อนไขด้านเทคนิค ที่ทำให้บีทีเอส ขาดคุณสมบัติ เข้าประมูลไม่ได้ 

บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ บีอีเอ็ม ของ ช. การช่าง ชนะการประมูล ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีการเซ็นสัญญา เพราะยังมีคดีในศาลปกครองที่ไม่ถึงที่สุด  และมีข้อครหาว่า บีอีเอ็ม ขอเงินอุดหนุนสุทธิจากรัฐบาลสูงกว่าที่ บีทีเอส ขอในการประมูลครั้งแรกถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถูกมองว่า เป็นเงินทอนให้ฝ่ายการเมือง

การที่ บีทีเอส ขวางการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มจนเดินหน้าไม่ได้ ทำให้ท่าทีของพรรคภูมิใจไทยในเรื่อง การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส 30 ปีแลกกับการปลดหนี้ทั้งหมดให้ กทม.เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เคยทำหนังสือเห็นชอบการต่ออายุถึง 4  ครั้ง เมื่อมีปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มสะดุด พรรคภูมิใจไทยก็ระดมสรรพกำลังคัดค้านการต่ออายุสัมปทานแบบหัวชนฝา ถึงขึ้น อนุทิน นำ 7 รัฐมนตรีภูมิใจไทย บอยคอต ครม. ลาประชุมในวันที่ จะมีการพิจารณาวาระการต่ออายุสัมปทานสายสีเขียว

เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีส้ม ทำให้คีรีรู้สึกว่า ถูกรังแกจากพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งครั้งผ่านมา จึงมีข่าวว่า เขาให้การสนับสนุนพรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทย เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง จนมีส่วนผลักดันให้ สุรพงษ์ ปิยะโชติ เพื่อนร่วมรุ่น วตท.10  ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแล รฟม. และการรถไฟแห่งประเทศไทย

การสนับสนุนสนธิญาณ ให้ตั้ง Top News ก็เพื่อเป็นสื่อในการสู้กับพรรคภูมิใจไทยที่คุมสื่อไว้ในมือจำนวนมาก และเป็นปากเสียงให้กับบีทีเอส

Top News มีผู้ชมเหนียวแน่นระดับหนึ่ง แต่ไม่มีรายได้เพียงพอจากการโฆษณา เพราะเป็นทีวีการเมืองแบบเลือกข้างชัดเจน  ต้องหารายได้จากการขายตรงสินค้าหน้าจอ  

การเข้าไปผลิตรายการกับช่อง JKN18 ของแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ คือ ความพยามที่จะหารายได้ ด้วยความเชื่อว่า JKN18 เป็นทีวีดิจิทัล แม้จะมีผู้ติดตามชมไม่มาก แต่ก็ยังมากกว่า  Top News ที่เป็น ทีวีดาวเทียม

รายได้ของสถานีโทรทัศน์มาจากโฆษณา โฆษณาจะมีมากน้อย ขึ้นกับเรตติ้ง ในโลกแห่งความจริง เรทติ้งของสถานีข่าว ไม่เคยอยู่เกินอันดับ 8 ของเรทติ้งสถานีโทรทัศน์รวม  

เรตติ้งของช่อง 18 เดิมก็อยู่ท้ายตาราง ถึงแม้จะมีแฟนคลับของ Top news มาช่วยเชียร์ตอนเริ่มต้น แต่หลังจากนั้นก็เริ่มหายไป   สาเหตุหนึ่งมาจากการจัดผังรายการที่ทำรายการมวย 7 วันต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา  18.10 น – 20.00 น. 

ช่องข่าวเวลา 18.00 น. คือช่วงพีคของรายการข่าว คนที่ติดตาม Top news คือคนดูข่าว ไม่ได้ดูมวย  แน่นอนว่าแฟนคลับส่วนหนึ่งหายไป ไม่กดมาดู   เพราะพวกเขาต้องการดูข่าว ไม่ใช่ดูมวย 

อนาคตของช่อง 18  บ้านใหม่ของ Top News  จึงไม่สดใสนัก สนธิญาณต้องหาลู่ทางใหม่ คือ หันไปติดต่อสัมพันธ์กับอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยไม่สนใจว่า พรรคภูมิใจไทย คือ ศัตรู คู่แค้นของคีรี กาญจนพาสน์ ผู้สนับสนุนหลักของ TopNews  ตั้งแต่แรกตั้งสถานี โดยให้เหตุผลในการลาออกจาก Top News ว่า เพราะทิศทางธุรกิจไม่ตรงกับผู้บริหาร

ส่วน Top News หลังสนธิญาณโบกมือลา แต่ยังเป็นผู้ถือหุ้นถึง 52 %  ในนามส่วนตัว ลูกสาวและคนสนิท ฉัตรชัย ภู่โคกหวาย และเสนอตัวว่า พร้อมจะขายหุ้นให้ผู้สนใจ หากคีรียังจะเดินหน้าต่อ ก็ต้องยอมควักกระเป๋าซื้อหุ้นจากสนธิญาณ แน่นอนว่า สนธิญาณย่อมไม่พลาดโอกาสให้การทำกำไรก้อนใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

เงินไม่ใช่ปัญหาสำหรับคีรี ทั้งเงินค่าหุ้น และเงินอัดฉีดก้อนใหม่ ปัญหาคือ คุ้มหรือไม่ที่จะไปต่อ  ไปต่อแล้วได้อะไร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์