แรงงานพม่าร้อง บีบโอนเงินผ่านระบบ 25%

28 ก.ย. 2566 - 08:43

  • รัฐบาลเมียนมา ปรับระบบโอนเงินจากแรงงานพม่าในต่างแดน

  • บังคับต้องโอนในระบบธนาคารอย่างน้อย 25% เพื่อพยุงค่าเงินจ๊าด

  • แรงงานเมียนมาในไทยร้อง ค่าแลกเงินนอกระบบได้อัตราที่ดีกว่า

economy-value-of-money-un-myanmar-foreign-workers-mmk-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566 ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร กลุ่มแรงงานชาวเมียนมาในไทยได้จัดกิจกรรมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมากรณีออกมาตรการบังคับชาวเมียนมาที่ออกมาทำงานในต่างประเทศต้องส่งเงินกลับประเทศสัดส่วน 1 ใน 4 ของรายได้โดยผ่านระบบธนาคารพม่า หากฝ่าฝืนจะถูกห้ามทำงานในต่างประเทศ 3 ปี 

แรงงานเมียนมาในไทยชี้เป็นการรีดไถเงินจากประชาชนเพื่อเอาไปเลี้ยงรัฐบาลเผด็จการ นอกจากนี้กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้มีการอ่านแถลงการณ์ และยื่นหนังสือร้องเรียนถึง UN เร่งกดดันรัฐบาลเมียนมา

ทำไมต้องบังคับโอนเงินกลับประเทศ

การบังคับโอนเงินกลับประเทศสูงถึง 25% ของรายรับของคนงานเมียนมาจากธนาคารพาณิชย์ในไทย ไปยังธนาคารเครือข่ายที่ถูกควบคุมโดยธนาคารกลางของเมียนมา ตามข้อกำหนดดังกล่าว คาดว่าเป็นความพยายามส่วนหนึ่งที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน “จ๊าด” ของเมียนมาที่อ่อนค่าลง และอัตราแลกเปลี่ยนมีความแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างอัตราทางการ กับ อัตราในท้องตลาด (ตลาดมืด) 

ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนของทางการจะอยู่ที่บาทละ 56 จ๊าด แต่อัตราในท้องตลาดจะอ่อนค่าไปถึงบาทละ 100 จ๊าด  

แรงงานเมียนมาในไทย

ที่ผ่านมา มีแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย อยู่ราว 1.6-2 ล้านคน ไม่นับแรงงานที่เข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งแรงงานเหล่านี้กระจายอยู่ใน กรุงเทพฯ และจังหวัดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รอบ ๆ ปริมณฑล เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และนครปฐม รวมทั้งตามจังหวัดที่ติดชายแดนกับไทย

อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ Migrant working group กล่าวว่า หากมีการบังคับใช้มาตรการนี้จริง หากไม่ทำตามข้อกำหนด แรงงานเหล่านี้จะถูกตัดสิทธิการเดินทางออกนอกประเทศ 3 ปี 

ที่ผ่านมา แรงงานเมียนเหล่านี้ นอกเหนือจากการโอนเงินส่งกลับประเทศไปให้ครอบครัวโดยผ่านระบบธนาคารปกติแล้ว ก็จะใช้วิธีส่งเงินกลับผ่านนายหน้ามากกว่า เพราะอัตราการแลกเปลี่ยนจะได้น้อยกว่า และส่งผ่านตลาดมืดจะได้เงินมากกว่า

“ช่วงหลัง ๆ เริ่มมีการส่งเงินผ่าน True Money Wallet เพิ่มมากขึ้น หากมีการบังคับใช้มาตรการนี้จริง แรงงานคงเลือกที่จะไม่ส่งเงินกลับบ้าน และพอครบสัญญาเขาจะหนีออกนอกระบบซึ่งจะส่งผลกระทบกับประเทศไทย”

อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานเมียนมาจะหนีออกนอกระบบเอ็มโอยู และแอบเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมายมากขึ้น และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ ตลาดแรงงานของไทย ที่พึ่งพาแรงงานไร้ทักษะจากเมียนมาอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานของไทย ควรเร่งเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อยกเลิกมาตรการดังกล่าว

นอกเหนือจากการชุมนุมเพื่อเรียกรั้งให้รัฐบาลไทย แก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ในหนังสือร้องเรียน ผู้ชุมนุมยังร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ รัฐบาลไทย และประชาคมอาเซียน ดังนี้ 

  1. เร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามโมเดล Humanitarian Corridor บริเวณชายแดนไทย โดยกําหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและปราศจากปฏิบัติการทางทหาร
  2. เร่งกดดันแผนการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน (Five-point Consensus) โดยเฉพาะข้อที่หนึ่ง คือการยุติความรุนแรงทั้งหมดในประเทศเมียนมา และข้อที่สี่ คือภารกิจด้านมนุษยธรรมในเมียนมา
  3. ให้รัฐบาลไทยเร่งยอมรับขบวนการประชาธิปไตยเมียนมาในรูปแบบของการรับฟังและร่วมมือกับกลุ่ม Civil Disobedience Movement (CDM), People’s Defence Force (PDF), และรัฐบาลพลัด ถิ่น National Unity Government of Myanmar (NUG) โดยเฉพาะภายในพื้นที่ประเทศไทย
  4. กดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้เร่งคืนอำนาจประชาธิปไตยสู่ประชาชน คืนความยุติธรรม และปล่อยตัว นักโทษทางการเมืองทุกคน เพื่อนำประเทศกลับสู่สภาวะปกติและสร้างเสถียรภาพในด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ เพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องพึ่งพาแผนการรีดไถเงินจากผู้ใช้แรงงานดังในปัจจุบัน เงินของเราจะไม่มีวันตกถึงมือรัฐบาลฆาตกร

ข่าวน่าสนใจ

มิจฉาชีพ เล่นใหญ่ อ้าง ‘เศรษฐา’ ยกพนันออนไลน์ถูก กม.

ความชัดเจนของนโยบาย ช่วยเพิ่ม GDP โตได้แน่

ช่วยลดดอกเบี้ย 3% วงเงินกู้รวม 2,000 ล้าน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์