กฟผ.เร่งสอบงานจ้าง ‘ขุด-ขนถ่านหิน’ เหมืองแม่เมาะ

26 พ.ย. 2567 - 10:40

  • กฟผ.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • กรณีงานจ้างขุด-ขน ถ่านหิน ที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1

  • ตอกย้ำ ยึดหลักความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรมตามระเบียบข้อบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

egat_fact_hiring_work_digging_transporting_coal_mae_moh_mine_SPACEBAR_Hero_951290dd74.jpg

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งความคืบหน้า กรณีที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีหนังสือสั่งให้ กฟผ. ระงับการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สัญญาที่ 8/1 ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วเสร็จ ว่า กฟผ. ได้รับข้อสั่งการแล้ว ขณะนี้ กฟผ. ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกรณีงานจ้างขุด-ขนถ่านหิน ที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 ยึดหลักความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม ตามระเบียบ ข้อบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

egat_fact_hiring_work_digging_transporting_coal_mae_moh_mine_SPACEBAR_Photo01_2645b57867.jpg

โดยปัจจุบันคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ดำเนินการพิจารณาตามคำร้องตามที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และจะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมหลักฐานและข้อวินิจฉัย และผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อรายงานรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไป

กฟผ. ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กฟผ. บริหารการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยจะบริหารจัดการเชื้อเพลิงถ่านลิกไนต์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าและต้นทุนราคาพลังงานของประเทศ

สำหรับ ‘การจ้างโดยวิธีพิเศษ’ ครั้งนี้ เป็นการเชิญชวนบริษัทที่มีประสบการณ์ในงานเนื่องจากเป็นงานที่ต้องจ้างโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจเสียหายแก่งาน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของ กฟผ. ซึ่ง ITD เป็นหนึ่งในบริษัทที่ กฟผ. เชิญชวนให้เข้ามายื่นข้อเสนอด้วยวิธีประกวดราคาครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ในเงื่อนไขของ TOR นั้น ผู้เสนอราคาจะต้องเสนอรายงานผลการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรกลหลักซึ่งทำการตรวจสอบสภาพโดย กฟผ. ที่ต้องเชื่อถือได้ พร้อมทั้งแผนการปรับปรุงสภาพของเครื่องจักรกล แต่ทาง ITD มีข้อเสนอและรายละเอียดไม่ตรงตามขอบเขตของโครงการฯ และเงื่อนไขเฉพาะงาน กฟผ. จึงถือว่าผู้เสนอราคารายนี้ ไม่ผ่านการพิจารณาด้านวิชาการ โดยข้อเสนอและรายละเอียดไม่ตรงตามขอบเขตของโครงการฯ อาทิ 

1\. เครื่องโม่ดิน มีรายงานผลการตรวจสอบ ‘สภาพเครื่องจักรกลหลัก’ ไม่ครบตามจำนวนที่เสนอ

2\. สายพานลำเลียงดินและเครื่องโปรยดิน ไม่มีแผนการปรับปรุงสภาพ (Reconditioning) ก่อนการทำงาน

3\. แบบดำเนินการที่เสนอมาขุดนอกขอบเขตพื้นที่การทำงานที่กำหนด ซึ่งแตกต่างจากแบบแปลนเหมืองที่ กฟผ.กำหนด

นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า ITD ยังมีประวัติความไม่พร้อมของการทำงานในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้ง เมื่อรวมกับ 3 ข้อเสนอที่ไม่ตรงกับ TOR ก็ยิ่งทำให้เป็นข้อมูลสนับสนุนที่ดี ดังนั้น หากโครงการล่าช้าต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ก็จะเพิ่มขึ้น ก็จะกระทบกับค่าไฟฟ้าของประชาชนด้วยเช่นกัน

egat_fact_hiring_work_digging_transporting_coal_mae_moh_mine_SPACEBAR_Photo03_cdb921de7d.jpg
อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์