ค่าไฟ ก.ย. ลดแน่แม้ ‘พิธา’ ไม่ได้เป็นนายกฯ

6 มิ.ย. 2566 - 02:37

  • ปลายปีนี้ ค่าไฟฟ้าลดหน่วยละ 50-70 สตางค์ ไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯ ลดแน่นอน

  • ย้ำ ไม่ใช่ฝีมือรัฐบาลใหม่ แต่เป็นไปตามภาวะตลาด ที่ต้นทุน LNG ถูกลง เหลือต่ำกว่า 10 เหรียญต่อล้านบีทียู

Energy-electricity-bill-September-period-reduce-LNG-FT-down-SPACEBAR-Thumbnail
ปลัดกระทรวงพลังงาน กุลิศ สมบัติศิริ ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า  ค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคมปีนี้ จะลดลงแน่นอน 50-70  สตางค์ต่อหน่วย เพราะราคาตลาดจร ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LNG ลดลงเหลือ 10.5 เหรียญสหรัฐ ต่อล้านบีทียู  

ราคา LNG เมื่อ 3 ปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 7-9 เหรียญต่อล้านบีทียู ปีที่แล้วปรับสูงขึ้นมา บางช่วงสูงถึง70 กว่าเหรียญต่อล้านบีทียู เป็นผลจากสงครามรัสเซีย ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและLNG พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  

เป็นจังหวะที่กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ลดลงต่ำกว่าที่เคยผลิตได้ เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสัมปทานเดิมคือ เชฟรอน กับผู้รับสัมปทานใหม่คือ ปตท.สผ. ก๊าซจากเมียนมาร์ ก็ผลิตไม่ได้ตามกำลังผลิตเดิม ก๊าซอ่าวไทย ก๊าซพม่า และก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีราคาถูก ประมาณ 7 เหรียญต่อล้านบีทียู เมื่อก๊าซหายไปรวมๆ แล้ว เกือบ 40 % ก็ต้องนำเข้า LNG มาใช้ผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งเป็นช่วงที่LNG ราคาแพงมาก  

นี่จึงทำให้ค่าเอฟที ซึ่งมีค่าเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลัก ปรับสูงขึ้นจากต้นปี 2565 ค่าเอฟทีหน่วยละ 1.39 สตางค์ เป็นหน่วยละ 93.43 สตางค์ ในงวดเดือน กันยายน-ธันวาคมปีที่แล้ว 

สงครามรัสเซีย ยูเครน รบกันมาแล้ว ปีครึ่ง ชาติยุโรปที่เคยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย  ปรับตัวโดยการนำเข้าLNG จากสหรัฐฯ การ์ต้า และออสเตรเลีย ฯลฯ จนเพียงพอต่อความต้องการ ไม่ต้องแย่งกันซื้อแล้ว ราคา LNG ในตลาดโลก จึงค่อยๆ ปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปีนี้ จนมาถึงปัจจุบัน  ทำให้ปลัดกระทรวงพลังงานมั่นใจว่า ค่าเอฟที 4  เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะลดลงอย่างแน่นอน 50-70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟจากปัจจุบันหน่วยละ 4.70 บาท เหลือ 4 บาท ต้นๆ  

ค่าไฟที่ลดลง เพราะราคานำเข้า LNG ลดลงมามาก  และมีแนวโน้มที่การผลิตก๊าซในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ทำให้ลดการนำเช้า LNG ได้อีก ค่าไฟปีหน้า จึงมีโอกาสที่จะลดลงต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย  

ทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมือง หรือ เป็นฝีมือของรัฐบาลใหม่เลย 

เอานาย ‘ก’ นาย ‘ข’ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ค่าไฟปลายปีนี้ก็จะถูกลงอย่างแน่นอน  

ที่ผ่านมา เรื่องค่าไฟที่สูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ ถูกพรรคการเมืองฝ่ายค้านในรัฐบาลก่อน ทำให้เป็นเรื่องการเมือง ปั่นกระแสว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน จึงทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ถึงแม้กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะชี้แจงซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าว่า ค่าไฟแพง เพราะค่าเชื้อเพลิงคือ LNG แพง จึงต้องปรับค่าเอฟทีขึ้น แต่บรรดานักการเมือง เอ็นจีโอ รวมทั้งองค์กรที่น่าจะมีวุฒิภาวะ อย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปั่นประแสให้ข้อมูลผิดๆ กับประชาชน  

โครงสร้างค่าไฟ ประกอบด้วย ค่าไฟฐาน หน่วยละ 3.71  บาท  และค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที เป็นต้นทุนที่อยู่นอกเหนือการควบคุม คือ ค่าเชื้อเพลิง กับอัตราแลกเปลี่ยน  

ผลตอบแทนที่เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารวมทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ เอง ได้รับ เป็นส่วนหนึ่งในค่าไฟฐาน ซึ่งคงที่ ไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2558  

ตัวที่ผันแปร ปรับขึ้นลง คือ ค่าเอฟที ที่ทำให้ค่าไฟต่อหน่วยสูงขึ้น หรือลดลง  

ค่าไฟที่ปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้  ไม่ทำให้โรงไฟฟ้ารวยขึ้น เพราะขายไฟราคาเดิม แต่เป็นต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นมา   

เมื่อ LNG ถูกลง ค่าเอฟทีก็ลดลง ในขณะที่ค่าไฟฐานเท่าเดิม 3.71 บาท  

เช่นเดียวกับเรื่อง กำลังไฟฟ้าสำรอง ที่ตกเป็นแพะว่าทำให้ค่าไฟแพง วันนี้ กำลังสำรองเท่าเดิมคือ ประมาณ 36% แต่ค่าไฟปลายปีนี้กำลังจะถูกลง เพราะค่าเชื้อเพลิงลดลง ไม่ใช่เพราะกำลังไฟฟ้าสำรองลดลงแต่อย่างใด  

ถึงเวลาทำความเข้าใจโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า จะได้ไม่ถูกนักการเมืองและเอ็นจีโอป้อนข้อมูลผิดๆ ให้ต่อไป  

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์