ในท่ามกลางยุคที่โลกกำลังต้องการพลังงานสะอาด เพื่อลดปัญหาโลกร้อน อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอีก 1 จุดเปลี่ยนที่สำคัญ รมว.อุตสาหกรรม ก็ยอมรับ ปัญหาความยากในช่วงนี้คือ การเผชิญปัญหาทั้งในส่วนของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างรถ EV และรถเครื่องยนต์สันดาป (ICE) ซึ่งในส่วนของรถ EV นั้นถือว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญในอนาคตทั้งเรื่องการการลงทุนใหม่และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยกรณี บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ได้ประกาศย้ายโรงงานผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จากโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปโรงงานที่จังหวัดปราจีนบุรีว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับทราบรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว ถือเป็นการปรับเปลี่ยนตามปกติ ตามแผนภายในที่ฮอนด้าได้วางไว้ โดยได้ย้ายโรงงานผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ไปอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีแทน ส่วนโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ยังมีอยู่ แต่ปรับจากกการผลิตรถยนต์ มาเป็นการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนที่ผลิตออกจากโรงงานนี้แทน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาบริษัท ฮอนด้าฯ ได้มีการย้ายการผลิตส่วนหนึ่งไปแล้วหลังจากที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศเมื่อปี 2554 และครั้งนี้ก็เห็นว่าเป็นการย้ายฐานการผลิตไปรวมกันมากกว่า ส่วนหนึ่งก็ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้นด้วย กรณีของฮอนด้าไม่เหมือนกับอีซุซุ กับซูบารุที่ปิดโรงงานไปก่อนหน้านี้”
รมว.อุุตสาหกรรม กล่าว
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นช่วงปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งปัญหาความยากในช่วงนี้คือ การเผชิญปัญหาทั้งในส่วนของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างรถ EV และรถเครื่องยนต์สันดาป (ICE) ซึ่งในส่วนของรถ EV นั้นถือว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญในอนาคตทั้งเรื่องการการลงทุนใหม่และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์สันดาปก็มีความสำคัญมาก เพราะเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเป็นห่วงในส่วนนี้เช่นกัน ขณะที่ผู้บริโภคก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เผชิญปัญหาเช่นกันเพราะในเรื่องนี้ก็มีผลกระทบจากการปรับตัวของผู้ผลิตที่มีการปรับตัวในช่วงที่ตลาดมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น
ผลกระทบอยุธยา เมื่อฮอนด้า ย้ายฐานผลิตออกนอกพื้นที่
ชัยกฤต พุ่มเข็ม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผย กรณีการย้ายฐานผลิตจากอยุธยาไปปราจีน รับรู้กันทั้งจังหวัด และมีการวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก เพราะฮอนด้า อยุธยา เป็นฐานการผลิตรถยนต์มาแล้วถึง 32 ปี (ตั้งแต่ปี 2535) เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอยุธยาไปแล้ว การย้ายมีผลที่ตามมากระทบเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่การจ้างงาน ธุรกิจ หอพัก ห้องเช่า อสังหาริมทรัพย์ ร้านค้า และอื่นๆ เพราะที่ผ่านมามีการจ้างงานเฉพาะบริษัทนี้ไม่ต่ำกว่า 7,000 คน รายได้ที่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง ที่แรงงานกลุ่มนี้เคยใช้บริการจะหายไป
ประธานสภาอุตฯ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังชี้ประเด็น ไม่อยากให้มองแค่ ‘ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง’ เท่านั้น (ไม่ได้ย้ายออกจากประเทศไทย) แต่อยากให้เกิดข้อสังเกต ว่า ทำไมถึงย้ายมากกว่า เบื้องต้น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอ 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. ที่ผ่านมา 30 กว่าปี ในพื้นที่นิคม และสวนอุตสาหกรรมในพระนครศรีอยุธยา มีกฏ ระเบียบใด ที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการปรับ หรือเอื้อให้นักลงทุนอยากลงทุนต่อในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือประเทศไทยหรือไม่
2. ระบการคมนาคม หรือระบบขนส่งสินค้า เอื้อให้นักลงทุนใช้งานต่อหรือไม่
3.ด้านพลังงาน ทั้งน้ำมัน และค่าไฟฟ้า อยู่ในราคาที่ผู้ประกอบการรับได้หรือไม่
4.ให้ความสำคัญ หรือส่งเสริมการผลิตรถยนต์เท่าเทียมกันทุกประเภทหรือไม่ และอื่นๆ
“อยากให้เกิดข้อสังเกต ว่า ทำไมถึงย้าย ประเทศไทยกำลังไม่มีแรงดึงดูดหรือไม่ หรือเรื่องต้นทุน ที่ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ต้นทุนการผลิตในประเทศไทย ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน”
ประธานสภาอุตฯ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าว