สำรวจซุ้มยาดองอีสาน สุราพื้นบ้าน ‘ภูมิปัญญา หรือ ยาพิษ’

8 ก.ย. 2567 - 06:22

  • ซุ้มยาดองอีสาน ยอดตก จากข่าว ‘เกิดคลัสเตอร์ดื่มแล้วตายใน กทม.’

  • Spacebar Big City สำรวจซุ้มยาดองอีสาน วอนอย่าจำภาพลบ

  • ตอกย้ำ เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน สร้างสุราพื้นบ้าน เพื่อสุขภาพ รายได้คนชุมชน

explore-northeast-local-liquor-wisdom-poison-SPACEBAR-Hero.jpg

หากพูดถึงยาดองเหล้ามีหลายฉายาหลายสูตรที่คุ้นหู ทั้ง “เสือ 11 ตัว โด่ไม่รู้ล้ม ช้างกระทืบโรง สาวร้อยผัว และ กำลังวัวเถลิง” บรรดาสิงห์ยาดองนิยมดื่มเพื่อผ่อนคลาย บำรุงร่างกาย บรรเทาอาการปวดเมื่อยและเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต 

แต่ข่าวการเสียชีวิตของชาวบ้านที่ดื่มยาดองผสมเมทานอลเสียชีวิตหลายราย ได้สร้างความตกใจ พร้อมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยจากการบริโภคยาดองเหล้า

explore-northeast-local-liquor-wisdom-poison-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ขอบคุณภาพจากเพจ งานวัดดอทคอม

ภาพคุ้นตากับซุ้มขนาดเล็ก ที่วางโถยาดองเหล้าสูตรยอดนิยม ฝาปิดคลุมด้วยผ้าสีแดง มีเครื่องเคียงเป็นผลไม้รสเปรี้ยววางไว้ข้างๆโถ กลุ่มลูกค้าวัยลายคราม กลุ่มแรงงานที่แวะเวียนกันมาซื้อหานั่งจิบเผื่อผ่อนคลาย  

หลังจากมีข่าวการเสียชีวิตจากการดื่มยาดองเหล้าปลอม ทีมข่าว Spacebar Big City ลงพื้นที่สำรวจ “ซุ้มยาดอง” หลายแห่งใน จ.ขอนแก่น พบว่า จากที่เคยเปิดจำหน่ายคึกคัก มาวันนี้ปิดร้านปิดซุ้มแทบไม่มีให้เห็น 

เจ้าของแบรนด์เหล้ากลั่นอย่างเพื่อนชาวนา ’เกียรติศักดิ์  กล่อมสกุล‘  และ ’สวาท อุปฮาด‘ เจ้าของแบรนด์เหล้า ‘คูน‘ มีความเห็นพ้องกันว่า ยาดองเหล้าถือเป็นภูมิปัญญาของไทยที่อยู่ในวิถีชีวิตมาอย่างยาวนาน ในสูตรการดองจะใช้สุรากลั่น มาดองกับสมุนไพรตามสูตรของแต่ละคน

explore-northeast-local-liquor-wisdom-poison-SPACEBAR-Photo02.jpg

โดยชาวบ้านในชนบทส่วนใหญ่ สืบทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และนิยมดองไว้กินในครัวเรือนหลังจากเสร็จสิ้นงานในไร่นา ไม่ได้จำหน่ายเป็นธุรกิจน้ำเมา มีเพียงขายเล็กน้อย แลกเปลี่ยนสูตรยากันชิมในพื้นที่ปิด และมีขายให้คนที่รู้จักกันในชุมชนเท่านั้น 

สุราชุมชนส่วนใหญ่ทำจากข้าวเหนียว ข้าวโพด และอ้อย เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล นำมากลั่นด้วยวิธีการดั้งเดิมได้จนแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หลายแบรนด์ขึ้นทะเบียนกับสรรพสามิต ถูกต้องตามกฎหมาย ผลิตขายเป็นสุรากลั่นบรรจุขวด มีดีกรีตรงตามที่จดทะเบียนไว้กับสรรพสามิต ห้ามเปลี่ยนสี ห้ามเปลี่ยนภาชนะ

explore-northeast-local-liquor-wisdom-poison-SPACEBAR-Photo03.jpg

“ข่าวที่พบว่าประชาชนดื่มยาดองเหล้าแล้วเสียชีวิตนั้น ไม่ได้เกิดจากสมุนไพรและเหล้ากลั่น แต่เกิดจากแอลกอฮอล์ที่กินไม่ได้ มาเป็นส่วนผสมในการดอง”

สุรากลั่นที่ชุมชนผลิตเอง เมื่อจดทะเบียนกับสรรพสามิตแล้ว ทุก 3 เดือน ต้องส่งตัวอย่างสุราขาว 3 ขวดไปให้สรรพสามิตตรวจสอบว่า ผลิตได้มาตรฐานหรือพบสารที่เป็นอันตรายหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่า ปริมาณสารในเหล้ากลั่นไม่เกินมาตรฐานจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 

ยาดองเหล้าส่วนใหญ่ ใช้เหล้าขาวในการดึงสรรพคุณตัวยา แอลกอฮอล์ที่กลั่นได้มาจากข้าวโพด อ้อยและข้าวเหนียว เป็นแอลกอฮอล์ที่กินได้ ส่วนการดองมีขั้นตอน คือ การหาตัวยาสมุนไพรแล้วนำมาดองกับสมุนไพรตามสูตรภูมิปัญญา มีระยะเวลาการดองไม่ต่ำกว่า 1 ปี จึงจะทำให้ได้ตัวยากลมกล่อม ไม่ใช่ดอง 2-3 วันก็นำไปดื่มทันที

“เราชัดเจนว่าต้องดองอย่างน้อย 1 ปี เหล้าขาวผลิตเอง มีการตรวจสอบผ่านมาตรฐานของสรรพสามิต และทุกครั้งที่ยาดองเหล้าครบกำหนด จะชิมด้วยตัวเองก่อนทุกครั้ง เป็นการควบคุมคุณภาพ และผลิตไม่เยอะ มีขายและแจกจ่ายให้กับกลุ่มที่สนใจเฉพาะคนที่เข้าใจการผลิต คือไม่ใช่ดื่มยาดองเหล้าเพื่อเมา แต่เราจะดื่มเพื่อผ่อนคลาย บำรุงร่างกาย ไม่ได้ทำธุรกิจเลี้ยงชีพ แต่ถือว่าทำเพื่อรักษาภูมิปัญญา ดองปริมาณน้อยและคัดคุณภาพของสมุนไพรที่นำมาเป็นส่วนผสม”

explore-northeast-local-liquor-wisdom-poison-SPACEBAR-Photo04.jpg

“ส่วนกลุ่มที่ทำเป็นธุรกิจนั้น จะมีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง คือ คนต้มเหล้า คนขายสมุนไพร คนรับซื้อเหล้ามาดองกับสมุนไพร และซุ้มที่วางขาย ซึ่งจะขายในราคาถูก ตกเป๊กละ 10-20 บาท หรือแบนละ 50-70 บาท หากใช้เหล้ากลั่นเองและจดทะเบียนกับสรรพสามิตจะขายในราคาเป๊กละ 30 บาท แบนละ 250 บาท หากหมดแล้วคือหมด ไม่มีขายเพิ่มให้ และไม่ขายยาดองที่หมักไม่ได้ตามระยะเวลาเพราะตัวยายังไม่เข้าเนื้อ”

เกียรติศักดิ์ กล่าว

explore-northeast-local-liquor-wisdom-poison-SPACEBAR-Photo05.jpg

‘สวาท อุปฮาด’ เจ้าของแบรนด์ ’คูน‘ สุราชุมชน กล่าวว่า องค์ความรู้และภูมิปัญญาในการผลิตยาดองเหล้า ถือเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ต้องการให้รัฐเห็นความสำคัญและรักษาไว้ และควรเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียน มีกฎหมายควบคุมการผลิต ลงทะเบียนผู้ผลิต ให้ความรู้เรื่องการจัดสูตรยาให้เหมาะสมกับร่างกาย รวมทั้งรวบรวมสูตรยาดองไว้เป็นภูมิความรู้เพื่อให้ยาดองเหล้าเป็นยา ไม่ใช่การดื่มเพื่อการสันทนาการ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มากกว่าจะเป็นประโยชน์

explore-northeast-local-liquor-wisdom-poison-SPACEBAR-Photo06.jpg

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติกานต์ สมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีเชิงฟิสิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า ในฐานะที่อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ประเด็นการดื่มยาดอง ที่มี ‘เมทานอล’ เจือปนจนมีผู้เสียชีวิตถึง 8 ราย เป็นเรื่องที่น่าตกใจและเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรก

explore-northeast-local-liquor-wisdom-poison-SPACEBAR-Photo07.jpg

ข้อสันนิษฐานหนึ่งเชื่อว่า ชาวบ้านยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องแอลกอฮอล์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ‘เอทิลแอลกอฮอล์’ เป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้กับร่างกายมนุษย์ได้ เช่น ผสมในยารับประทาน ผสมในสุราหรือเครื่องดื่มประเภทของมึนเมาหรือใช้ทาภายนอกร่างกาย เช่น ล้างแผล ผ้าเย็น กระดาษเช็ดหน้า สเปรย์ เป็นต้น

explore-northeast-local-liquor-wisdom-poison-SPACEBAR-Photo08.jpg

ส่วน ‘เมทิลแอลกอฮอล์’ เป็นแอลกอฮอล์ชนิดมีพิษ ใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดให้แสงสว่าง หรือปนกับทินเนอร์ สำหรับผสมแลคเกอร์ ส่วนผสมในฟอร์มาลีน ซึ่งประเภทนี้ห้ามใช้กับร่างกาย ในกรณีที่มีคลัสเตอร์จนมีผู้เสียชีวิต สันนิษฐานว่า ผู้ประกอบการเห็นว่าราคาถูก ต้องการกำไรเพิ่ม จึงซื้อเมทิลแอลกอฮอล์มาผสมแทน

“แอลกอฮอล์ทั้ง 2 ประเภท จะมีลักษณ์คล้ายกัน คือเป็นของเหลวที่ไม่มีสี แยกได้ยาก มีหลายเกรด มีความแตกต่างด้านราคา คือ เอทิลแอลกอฮอล์ราคา 160 บาทต่อลิตร ส่วนเมทิลแอลกอฮอล์ ราคา 60 บาทต่อลิตร อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีความรู้นำไปผสมทำเป็นยาดองปลอมขึ้น เมื่อสังเกตทางกายภาพ พบว่าสารทั้ง 2 ชนิดนี้แยกความต่างด้วยตาเปล่ายาก แต่หากดื่มเข้าไปแล้ว ให้สังเกตว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ หากมีส่วนผสมเมทิลแอลกอฮอล์ จะมีอาการเมา แสบตา แสบร้อนที่ทรวงอก ใช้เวลาไม่นานจะปรากฏอาการเหล่านี้ หรือจะมีอาการเฉียบพลัน ซึ่งต่างจากการดื่มสุราทั่วไป เพราะหากเป็นสุราที่ดื่มตามปกติ มีองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งปริมาณที่ดื่ม ใช้เวลาสักพักจึงจะมีอาการเมา”

“ส่วนที่ต่างกันของแอลกอฮอล์ทั้ง 2 ชนิด คือ เมทิลแอลกอฮอล์มีกลิ่นฉุนแรง ส่วนเอทิลแอลกอฮอล์ กลิ่นเบา ไม่ฉุน หากดูตามกระบวนการหมักสุราพื้นบ้านแล้ว เมื่อนำไปหมัก กลั่น ต้มตามกระบวนการแล้ว จะได้แอลกอฮอล์ที่เราเรียกว่าเอทิลแอลกอฮอล์ที่ดื่มได้ เพราะกระบวนการหมักมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ และถูกควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน”

ผช.ศ.ดร.ฐิติกานต์ กล่าว

“การซื้อขายแอลกอฮอล์ มีการควบคุมต้องซื้อจากบริษัทที่ได้รับใบอนุญาต แต่ปัจจุบันพบการซื้อขายออนไลน์ ทำให้เข้าถึงได้ง่ายและควบคุมยาก ซึ่งเมทิลแอลกอฮอล์เมื่อรับประทานจะทำลายเนื้อเยื่ออ่อน จากลักษณะทางกายภาพ ทำให้ผู้บริโภคสังเกตยากกว่าสุราทั่วไป ซึ่งมีรายละเอียดส่วนชัดเจน และจะรู้ก็ต่อเมื่อดื่มเข้าไปแล้วออกอาการ เช่น สายตาพร่ามัว เมาเร็ว หากดื่มแล้วรสชาติแปลกไปจากเดิมที่เคยดื่มเป็นประจำ”

สำหรับประชาชนที่บริโภคยาดองเหล้าปลอมในเขตกรุงเทพมหานคร จนกลายเป็นคลัสเตอร์ยาดอง จากรายงานล่าสุด พบว่า มีผู้ป่วย 44 ราย เสียชีวิต 8 ราย รักษาตัวหายแล้ว 31 ราย และยังรักษาอยู่อีก 5 ราย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์