หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
โครงการฯระบุว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามความต้องการของเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยให้เกษตรกรสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในลักษณะ ‘ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง’ หรือที่เรียกกันว่า ‘โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง’ ชาวนาจ่ายครึ่ง รัฐบาลจ่ายครึ่ง ไม่เกินไร่ละ 500 บาท สูงสุด 20 ไร่ เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เข้มแข็ง เกิดความยั่งยืนและลดภาระการเงินการคลังของประเทศ
พร้อมกันนี้รัฐบาลได้ยกเลิกเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ที่ชาวนาได้รับเป็นเงินสดเข้าบัญชี หลังการประกาศของรัฐบาล ทำให้เกษตรกรออกมาแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย และบางส่วนไม่เห็นด้วยกับ ‘โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง’

ทีมข่าว Spacebar Big City ลงพื้นที่พูดคุยกับ ‘วิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง’ ที่บ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนสาวะถี เล่าว่า ช่วงแรกที่ได้รับข้อมูล ยอมรับเลยว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ดีใจเพราะจะได้รับปุ๋ยมาใส่ในแปลงนา คิดว่าจะเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากรัฐบาลชุดนี้

แต่รายละเอียดเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการที่รัฐบาลกำหนด ทั้งการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน หลายขั้นตอน การจ่ายเงินสมทบของชาวนาก่อนจะได้รับปุ๋ย รวมทั้งประเด็นสำคัญที่ทำให้ชาวนาหลายคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามคือ การที่รัฐบาลประกาศยกเลิกเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ทำให้ชาวนาเริ่มไม่เห็นด้วย
จากที่คิดว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระการลงทุน แต่กลับยกเลิกและช่วยเหลือค่าปุ๋ยเพียงครึ่งเดียว จนนำไปสู่การเปรียบเทียบการบริหารงานกับรัฐบาลยุคก่อน
ไม่ต่างจาก ‘สุรพงษ์ เนตรจันทร์’ ชาวนาในหมู่บ้านเดียวกัน ระบุว่า มีที่นาที่ทำกินทั้งหมด 23 ไร่ เดิมได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท โดยเงิน 20,000 บาทจะโอนเข้าบัญชี จากนั้นก็จะนำเงินที่ได้รับการช่วยเหลือไปจ่ายค่าไถนา ค่าพันธุ์ข้าว ค่าดำนา ซื้อปุ๋ย รวมทั้งใช้หนี้สินที่เกิดจากการทำนาในฤดูที่ผ่านมาหมุนเวียนทุกปี
“หลังจากได้ยินข่าวว่ารัฐบาลยกเลิกการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ยอมรับว่าหมดศรัทธากับรัฐบาลชุดนี้ ถ้าเป็นไปได้ต้องการให้ทหารเข้ามายึดอำนาจอีกครั้ง ในสมัยที่รัฐบาลลุงตู่เข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ ลุงตู่ให้ทุกจังหวัดใช้งบประมาณจังหวัดจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ นอกจากนี้มีโครงการช่วยเหลือชาวนาหลายด้านทั้งค่าไถนา ค่าเกี่ยวข้าว ค่าพันธุ์ข้าว ซึ่งไม่เกี่ยวกับเงินช่วยเหลือ 1,000 บาท”
“ต่างจากรัฐบาลชุดนี้ที่ทำให้ภาคการเกษตรได้รับความเดือดร้อน ตัดทั้งเงินช่วยเหลือ เงินโครงการปุ๋ยคนละครึ่งไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งต้องหาเงินมาสมทบก่อนจึงจะได้ปุ๋ย ต้องลงทะเบียน ทั้งที่ชาวนาบางรายไม่มีความชำนาญ ต้องรอปุ๋ยซึ่งอาจจะไม่ทันการใช้งาน และมองว่าการช่วยเหลือตามโครงการของรัฐบาลเป็นการสร้างภาระให้เกษตรกรมากขึ้น เพราะราคาผลผลิตสวนทางกับการลงทุน ตอนนี้ขอความชัดเจนของโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง จึงจะตัดสินใจว่าเข้าร่วมโครงการหรือไม่”
สุรพงษ์ กล่าว

ไม่เพียงแต่ชาวนาเท่านั้นที่อาจจะได้รับผลกระทบ ร้านขายปุ๋ยในชุมชนของ จักริน เชื้อสาวะถี เจ้าของร้านสะท้านฟ้าการเกษตร บ้านเพี้ยฟาน ต.สาวัตถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีความกังวลว่า ร้านจะขายปุ๋ยได้น้อยลง เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนได้รับปุ๋ยจากทางรัฐบาล ซึ่งเมื่อโครงการปุ๋ยคนละครึ่งเริ่มดำเนินการ เชื่อว่าจะทำให้การค้าขายยากขึ้น จึงเตรียมปรับตัวนำสินค้าประเภทอื่นวางขายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้องแบกรับภาระด้านการลงทุนเพิ่มด้วย

“ร้านขายปุ๋ยในชุมชน จะมีสูตรและยี่ห้อปุ๋ยที่ชาวนาต้องการวางขายอยู่แล้ว มีราคาขายอยู่ระหว่าง 300-1,400 บาท ขึ้นกับสูตรและยี่ห้อ โครงการใหญ่ของรัฐควรเข้ามาสอบถามความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนที่จะประกาศโครงการ”
“อยากให้รัฐพิจารณาให้ร้านค้าในชุมชนเข้าร่วมโครงการ ให้ร้านค้าปุ๋ยในชุมชนเป็นตัวแทนขาย หรือผู้แทนส่ง เบื้องต้นทราบว่า ตัวแทนส่งปุ๋ยให้กับสหกรณ์ฯ เป็นร้านใหญ่ในจังหวัดแล้วให้เกษตรกรไปรับปุ๋ยเอง ร้านค้าปุ๋ยในชุมชนจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย แต่หากหน่วยงานภาครัฐพิจารณาให้ร้านขายปุ๋ยในชุมชนเข้าร่วมด้วย เชื่อว่าจะส่งผลดีกับร้านค้าย่อย เพื่อให้เป็นทางเลือก ชาวนาก็สะดวกต่อการมารับปุ๋ยด้วย”
จักริน กล่าว
ฉัตรนพวัฒน์ วีระศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกร จังหวัดขอนแก่น จัดการประชุมเพื่อร่วมกันหาทางออก และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ใส่ใจแก้ไขปัญหาของชาวนา พร้อมมีข้อเสนอแนะต่อโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ให้รัฐบาลศึกษาโครงการให้ดีก่อนประกาศ
“มองเห็นช่องโหว่ของโครงการ โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนด้านราคาปุ๋ยแต่ละสูตร เพราะปุ๋ยแต่ละสูตรแต่ละยี่ห้อ มีราคาไม่เท่ากัน ไม่ใช่กระสอบละ 1,000 บาท คำว่าคนละครึ่งหากปุ๋ยกระสอบละ 1,200 บาท ชาวนาต้องจ่าย 600 บาท ครึ่งหนึ่งที่รัฐบาลกำหนดมาจากตรงไหน ถือเป็นการชี้แจงโครงการที่ยังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน รัฐบาลต้องแจงมาเลยว่าปุ๋ยแต่ละอย่างราคาเท่าไร มีแต่บอกสูตร แต่ไม่บอกราคา”

แม้ตอนนี้โครงการฯ จะยังไม่เริ่มให้ลงทะเบียน แต่ก็มีเสียงสะท้อนออกจากหลายภาคส่วนที่อยากให้รัฐบาลนำไปแก้ไขปรับปรุง ก่อนจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น ธกส.วันที่ 15 กรกฎาคมนี้
เบื้องต้นประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกร จ.ขอนแก่น ได้ร่วมประชุมกันไปเมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 และมีมติร่วมกันจะไม่เข้าร่วมโครงการนี้ พร้อมกับเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขโครงการ **‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’**และขอให้คืนสิทธิ์ช่วยเหลือไร่ละ 1 พันบาทให้กับชาวนาตามเดิม
