นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผย ตามที่คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข.ได้ประชุม และมีมติกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านราคาข้าวนาปรังปีการผลิต 2568 ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท พร้อมออก 3 มาตรการให้ความช่วยเหลือ ประกอบด้วย
1. ขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน ระยะเวลา 1-5 เดือน ในพื้นที่ 72 จังหวัด ปริมาณ 1.5 ล้านตัน วงเงิน 1,219.13 ล้านบาท
2. การเพิ่มช่องทางการตลาดในประเทศโดยเปิดจุดรับซื้อ รัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการตันละ 500 บาท ผู้ประกอบการช่วยซื้อในราคานำตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 300,000 ตัน ในพื้นที่ 72 จังหวัด งบประมาณ 150 ล้านบาท เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ต้องการจะขายเลย
3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกข้าว ช่วยดอกเบี้ยผู้ประกอบการ 6% สำหรับผู้ประกอบการเก็บสต็อก 2 – 6 เดือน และผู้ประกอบการรับซื้อราคาสูงกว่าตลาด 200 บ./ตัน ขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงิน 524.40 ล้านบาท โดยทั้ง 3 มาตรการ ใช้งบประมาณรวม 1,893.53 ล้านบาท นั้น
นายปราโมทย์ ชี้ว่า ในประเด็นการกำหนดราคารับซื้อข้าวแห้งที่ 8,500 บาท/ตัน รวมถึงมาตรการที่จะให้สหกรณ์ดำเนินการรับซื้อหรือรับฝาก โดยสหกรณ์ได้ 500 บาท/ตัน ชาวนาได้ 1,000 บาท/ตันนั้น ถือเป็นประเด็นที่ ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการ นบข. ด้านการตลาด เป็นผู้นำเสนอ ไม่ใช่ข้อเสนอของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยแต่อย่างใด
ดังนั้น ขณะนี้สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้หารือกับนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยอีกครั้ง พร้อมเห็นพ้องว่า มาตรการที่รัฐจัดให้ มีข้อจำกัดที่อาจส่งผลเสียต่อการใช้งบประมาณ การเปิดช่องโอกาสให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย รวมถึงความไม่พร้อมในเรื่ององค์ประกอบในสถาบันที่ร่วมโครงการ ที่สำคัญ มาตรการต่างๆ ที่ออกมา ถือว่า ยังไม่ตรงตามความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ ดังนั้นเพื่อเป็นไปตามมติกรรมการสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยจึงเห็นพ้องว่า ขอให้คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ด้านการตลาดทบทวนและวางมาตรการใหม่ตามที่เกษตรกรร้องขอ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และป้องกันการสุ่มเสี่ยงทางเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนี้
1. พิจารณาราคาข้าวตามความชื้น : ขอให้ภาครัฐพิจารนามาตรการประกันราคาผลผลิตข้าวเปลือกจ้าวในฤดูนาปรังปีการผลิต 2568 สำหรับความชื้นไม่เกิน 15% ราคาไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท/ตัน ส่วนความชื้นไม่เกิน 25% ราคาไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/ตัน
2. มาตรการงดเผาตอซังฟางข้าว : ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในกรณี งดเผาตอซังฟางข้าว ไร่ละ 500 บาท ตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้
3. ปุ๋ยยาราคาแพง : ขอให้ภาครัฐควบคุมปัจจัยการผลิตเช่น ปุ๋ย ยา และน้ำมันเชื้อเพลิง
4. เงินชดเชยทุ่งรับน้ำ : ขอให้ภาครัฐพิจารณาหาแนวทางชดเชยพื้นที่เกษตรกรที่ใช้เป็นทุ่งรับน้ำ ตามที่เกษตรกรร้องขอ
5. โครงการไร่ละพัน : ขอให้ภาครัฐพิจารณาโครงการไร่ละ 1,000 บาทให้ยังคงเดิม อันเป็นการวางมาตรการความเสี่ยงในเรื่องต้นทุนการผลิต
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการต่างๆ ภาครัฐต้องพิจารณาถึงกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเก็บเกี่ยวไปแล้วให้ได้รับสิทธิ์ในมาตรการดังกล่าวทุกมาตรการโดยเท่าเทียมกัน
