นานแค่ไหนที่ไทยเราพูดถึงปัญหา SMEs ว่า เป็นกลุ่มต้องช่วยเหลือทั้งเรื่อง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล โอกาสขยายช่องทางการตลาด ซึ่งปลายทางของทั้งหมด คือ ‘การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน’ เท่ากับว่า วันนี้ SMEs ไทย ยังแข่งยากใช่หรือไม่? แล้วตอนนี้ ใคร-ทำอะไร?
สนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ให้ภาพการแข่งขันของประเทศว่า ดีขึ้น ชี้ข้อมูลของสถาบัน IMD ที่ได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจัดไทย มีอันดับที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 3 อันดับ โดยอยู่ในอันดับที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก และเป็นที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ในภาพรวมการพัฒนา SMEs ไทยยังมี Pain Point ที่เป็นอุปสรรคในการแข่งขัน!
ดังนั้น ขณะนี้ กกร. จึงมีความร่วมมือกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ลงนาม MOU เปิดตัวโครงการ FAST SMEs “Enhancing SMEs Capability for Competitiveness” (3 ตุลาคม 66) เพื่อยกระดับศักยภาพ SMEs ในกลุ่มต้นแบบนำร่องให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และตั้งเป้าดันอันดับ Competitiveness ไทยดีขึ้นต่อเนื่อง หวังสร้างต้นแบบ SMEs ภาคเกษตรสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน
โครงการ FAST SMEs “Enhancing SMEs Capability for Competitiveness จะนำร่องคัดเลือก SMEs กลุ่มเกษตรและอาหาร จำนวน 10 ราย เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านกระบวนการอบรม Coach Mentor กิจกรรมการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ การศึกษาดูงานต้นแบบการจัดการธุรกิจด้านนวัตกรรมอาหารที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนการประเมินและติดตามผลความก้าวหน้าของธุรกิจแต่ละราย โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นในว่ากลุ่ม SMEs ต้นแบบดังกล่าวจะสามารถต่อยอดธุรกิจไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อขยายผลไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ในอนาคตต่อไป
นิธิ ภัทรโชค ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่ TMA เป็น Partner Institute ของ IMD World Competitiveness Center ที่สวิตเซอร์แลนด์ มาเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งหน่วยงานหลักในโครงการนำร่องนี้ เพื่อมุ่งพัฒนา ส่งเสริม และเพิ่มขีดความสามารถ SMEs ไทย ให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตและประสิทธิภาพ (Productivity and Efficiency) ได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในประเด็นดังกล่าวพัฒนาขึ้นได้
ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ในเบื้องต้น เรามีบริษัทใหญ่หลายแห่งในอุตสาหกรรมเกษตรอาหารเล็งเห็นถึงเจตนารมณ์นี้ และได้ร่วมกันสนับสนุนโดยการส่ง SMEs ที่อยู่ใน Value Chain ของบริษัทมาเข้าร่วมโครงการนำร่องต่อจากนี้ไปอีก 1 ปี
"เรามี SMEs ที่มาจากทั่วประเทศ ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งการอบรมให้ความรู้ที่ทันสมัย การเร่งรัดให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภาพ และการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเกิดประสิทธิผล โดยโครงการฯ คาดหวังว่าจะส่งผลต่อให้ระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น"
สนั่น กล่าว
