สมาคมธนาคารไทย ชี้ภัยการเงินอันตราย ชี้ช่องช่วย ปชช.รู้ทัน!

8 ธ.ค. 2565 - 10:25

  • รัฐรุกช่วยประชาชน ปกป้องภัยการเงิน แนะ 5 แนวทางเซฟตี้

  • ด้าน ดีอีเอส - กรุงไทย ยังร่วมมือ เพิ่มช่องทางเตือน ‘ข่าวลวงออนไลน์’ ผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’

financial-disaster+-online-shopping-Digital-Banking-DES-KTB-SPACEBAR-Thumbnail
กรณีที่มีผู้ใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และผูกบัญชีธนาคารเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ประสบปัญหาการทำรายการ โดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง สมาคมธนาคารไทย ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของสถาบันการเงินทุกแห่ง และเร่งดำเนินการติดตามตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานกับบริษัทผู้ให้บริการดังกล่าวในการตรวจสอบธุรกรรม เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน 

โดยชมรมป้องกันการทุจริตและศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) แนะแนวทางควรปฏิบัติ ดังนี้
  1. หากต้องการผูกบัญชีธนาคารเพื่อใช้ซื้อสินค้า ลูกค้าควรกำหนดวงเงินใช้งานเท่าที่จำเป็น โดยผูกกับบัญชีที่มีจำนวนเงินไม่สูงมาก หรือในวงเงินที่รับความเสี่ยงได้ 
  2. ยกเลิกการผูกบัญชีธนาคารกับร้านค้าออนไลน์ หากไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานแล้ว 
  3. ตั้งค่าแจ้งเตือน เพื่อรับข้อมูลข่าวสารต่างๆได้ทันท่วงที 
  4. ไม่เปิดเผยรหัสผ่าน PIN หรือข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น 
  5. ศึกษาทำความเข้าใจข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้งาน รวมถึงมาตรการความปลอดภัยของแพลตฟอร์มก่อนตกลงทำธุรกรรมใดๆ
กรณีที่ลูกค้าสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ควรปฏิบัติดังนี้
  1. เปลี่ยนรหัสผ่านของระบบบัญชีออนไลน์นั้น 
  2. ติดต่อธนาคาร หรือผู้ให้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของบัญชีหรือธุรกรรมโดยเร็วที่สุด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4DH04lpvSIGdZce2Q8VlNM/b7baa5363e3322c886b9680ef883b5cc/financial-disaster_-online-shopping-Digital-Banking-DES-KTB-SPACEBAR-Photo01
ขณะที่อีกด้าน ยังมีความร่วมมือจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฯ (ดีอีเอส) และธนาคารกรุงไทย ซึ่งลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) บูรณาการบริการเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ และการแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ เชื่อจะสามารถสร้างการรับรู้ได้ไว เพราะมีการใช้กันทั่วประเทศกว่า 40 ล้านคน และป้องกันการสูญเสียก่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้ 

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์  วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เกิดจากเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชนและสาธารณชน ผ่านแอป ‘เป๋าตัง’ ซึ่งบริหารจัดการโดยธนาคารกรุงไทย และปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน โดยจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันการหลอกลวงทางออนไลน์ และข่าวปลอม เพื่อป้องกันและยับยั้งก่อนเกิดปัญหาการถูกหลอกลวง ลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ 

ด้านรูปแบบความร่วมมือ จะมีการพัฒนาระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้บริการข้อมูลจากฐานข้อมูลข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (AFNC) ที่ดำเนินงานโดยกระทรวงดิจิทัลฯ ไปยังแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อให้มีการเผยแพร่การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางการเงิน หรืออาชญากรรมทางการเงิน (Financial Fraud) ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชน เพื่อให้รับทราบทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ 

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าว ปัจจุบันมิจฉาชีพได้อาศัยเทคโนโลยี เป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์ในทางที่มิชอบในทุกรูปแบบ และมีการปรับเปลี่ยนวิธีการไปตามยุคสมัย ทั้งภัยทางไซเบอร์ กลโกงทางเงิน เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ แม้ว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมมือกันเต็มกำลังเพื่อป้องกันระวังภัยดังกล่าว  แต่ยังมีเหยื่อถูกหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการสร้างข่าวปลอม  (Fake News) บิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจผิด หลอกให้ประชาชนหลงเชื่อ ดังนั้น การให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชนอย่างทั่วถึง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างเกราะป้องกันภัยให้กับประชาชนทุกกลุ่ม
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/98AsSPnvpOLhXoFX9POcL/717df792e4f02b946e5449dbe28b3a3f/financial-disaster_-online-shopping-Digital-Banking-DES-KTB-SPACEBAR-Photo02

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์