เมื่อคนไม่มีเงินซื้อ ผู้ประกอบการก็ขายไม่ดี ในท่ามกลางที่ต้นทุนการผลิตก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะลด ปัจจัยลบอื่น ก็ตามมาเป็นหางว่าว นั่นจึงทำให้ ตัวเลขดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ทำการสำรวจ และเผยออกมานั้น มีตัวเลขที่ไม่ค่อยดีนัก สรุปง่ายๆ คือ ลดลงลงมาอีก โดยจากระดับเต็มที่ 100 เดิมอยู่ที่ 90.3 ลดมาที่ 88.5
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ และ นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผย การลดลงดังกล่าว เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ตอกย้ำเข้าไปอีกนิด ว่า ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน นี่ก็เรื่องหนึ่ง แต่ว่า ยังไม่จบ เพราะยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทัน

นี่แหละ ผู้ประกอบการจ่ายแพงขึ้น คนที่ซื้อของกินของใช้ของผู้ประกอบการ ก็ต้องจ่ายแพงขึ้นตามไปด้วย แต่ภาวะที่ ‘กำลังซื้อเปราะบาง’ แปลความได้อีกว่า คนไม่มีเงินจะซื้อ แล้วการผลิตที่ยังต้องผลิตเท่าเดิม ค่าแรง ค่าของ อันนี้ผู้ประกอบการก็เลยบอกว่า จะไม่ไหว ขอเถอะรัฐช่วยหน่อย เพราะขณะนี้โรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก็ทยอยปิดตัวไปเรื่อยๆ เฉลี่ยแล้วถึง 112 โรงต่อเดือนทีเดียว โดยต่อให้บาลานซ์กับโรงงานเปิดใหม่ ก็ยังถือว่า สร้างการจ้างงานได้น้อยลงกว่าเดิมอยู่ดี
สำหรับการสำรวจครั้งนี้ เป็นการตอบแบบสอบถามของผู้ประกอบการ 1,329 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 61.3% เศรษฐกิจในประเทศ 59.9% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 43.1% ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 66.2% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 60.9 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 35.7% ตามลำดับ
จึงกลายเป็นข้อเสนอส่งถึงภาครัฐ 4 ข้อ
1. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันและก๊าซ
2. เสนอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทันเนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
3. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ รวมถึงปรับปรุงเงื่อนไขและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้
4. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเฉพาะอาหารไทย เครื่องนุ่งห่มและสินค้ากีฬา เป็นต้น
