ไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานว่า “ราคาทองคำในจีน พุ่งเป็นประวัติการณ์” โดยเมื่อวันพุธ (16 เม.ย.) แบรนด์ทองคำ หลายแบรนด์รายงานราคาเครื่องประดับทองคำบริสุทธิ์สูงเกิน 1,000 หยวน หรือราว 4,500 บาทต่อกรัม ซึ่งแตะระดับสูงสุดตลอดกาล
เช่นเดียวกับ ราคาทองคำในตลาดซื้อขายทองคำ ที่เซี่ยงไฮ้ ก็ปรับเพิ่มขึ้นจนสูงเกิน 775 หยวน หรือราว 3,487 บาทต่อกรัม ขณะสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแห่งเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นเป็น 777.36 หยวน หรือราว 3,498 บาทต่อกรัม ซึ่งล้วนสูงเป็นประวัติการณ์
สถานการณ์นี้ ก็ทำให้ กลุ่มนักวิเคราะห์ มองว่าการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำเป็นผลจากกระแสวิตกกังวลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยที่อาจเกิดขึ้นตามผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ โดยสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงความเสี่ยงต่ำแบบดั้งเดิมอย่างตราสารหนี้สหรัฐฯ ประสบความผันผวนอย่างมาก ทำให้เหล่านักลงทุนย้ายมา ‘ลงทุนทองคำ’
ทั้งนี้ สถาบันการเงินชั้นนำอย่าง Goldman Sachs และ UBS ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาทองคำในระยะกลาง โดย Goldman Sachs คาดว่าอาจแตะระดับ 3,650–3,950 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และอาจสูงถึง 4,500 ดอลลาร์สหรัฐ หากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับ Citi Research ที่ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายราคาทองคำในระยะ 3 เดือนข้างหน้าเป็น 3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยอ้างอิงจากความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทประกันภัยในจีน และความไม่แน่นอนในตลาดโลก
ทองจีนพุ่งเป็นประวัติการณ์ ส่งสัญญาณอะไรบ้าง?
ต้องยอมรับว่า ‘จีน’ กลายเป็น ‘ผู้เล่นหลัก’ กำหนดทิศทางทองคำโลก โดยการที่จีนโดยเฉพาะธนาคารกลางจีน (PBOC) และบริษัทประกันภัยรายใหญ่ เพิ่มการถือครองทองคำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาทองคำโลกมีแนวโน้มแข็งแกร่งในระยะกลางถึงยาว โดยเมื่อ ‘ดีมานด์’ จากประเทศใหญ่อย่างจีนพุ่งขึ้น สะท้อนว่านักลงทุนในตลาดโลกจะต้องให้ความสนใจกับนโยบายของจีนมากขึ้นกว่าเดิม และอีกด้าน นักลงทุนเริ่มหลีกเลี่ยงความเสี่ยง อันเกิดจาก ‘ความไม่มั่นคง’ บางอย่าง เช่น
- ความตึงเครียดระหว่างประเทศ (เช่น สหรัฐฯ–จีน)
- การอ่อนค่าของเงินหยวน
- ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายใน
เช่นเดียวกับ หลายประเทศทั่วโลก ที่มีการสะสมทองคำในช่วงเวลานี้อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามในการเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและความผันผวนสูง ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมในการถือครองเพื่อป้องกันความเสี่ยงในระยะยาว
ทองคำไทย ‘ผันผวน’ ตามเทนด์โลก
สำหรับราคาทองคำไทย ก็ปรับขยับตาม โดย ณ วันที่ 17 เมษายน 2568 ทองคำไทย ปรับขึ้นไปถึง 12 ครั้ง สรุปรวมเพิ่มขึ้น 400 บาท ทำให้ราคาทองคำแท่งขายออกอยู่ที่ 52,350 บาท และทองรูปพรรณขายออกที่ 53,150 บาท ล่าสุด วันนี้ (18 เม.ย.68) ณ เวลา 13.00 น.ปรับเพียง 1 ครั้ง โดยเพิ่มขึ้นเท่ากับ 100 บาท
ทองคำแท่ง รับซื้อ 52,350.00 บาท/บาททองคำ
ขายออก 52,450.00 บาท/บาททองคำ
ทองรูปพรรณ รับซื้อ 51,407.56 บาท/บาททองคำ
ขายออก 53,250.00 บาท/บาททองคำ
อย่างไรก็ตาม เดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคาทองไทยพุ่งทะลุ 52,000-53,000 บาทแล้ว เมื่อเปรียบเทียบราคาทองคำระหว่างต้นเดือนมีนาคมและต้นเดือนเมษายน 2568 พบว่าราคาทองคำแท่งเพิ่มขึ้นมาแล้วประมาณ 3,750 บาทต่อบาททองคำ และทองรูปพรรณเพิ่มขึ้นประมาณ 3,750 บาทต่อบาททองคำ