จับตารัฐดันคนไทยมีลูก ส่งเสริม ศก. ปิดช่องว่างสังคมสูงอายุ

14 ก.พ. 2567 - 04:27

  • วงการ ‘ผู้มีบุตรยาก’ เฮ! รัฐบาลส่งเสริม ‘มีบุตร’ ประกาศ ส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ

  • ลดปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมสูงอายุ

  • จับตาการหนุนส่งเสริมใช้เทคโนโลยีการแพทย์รักษา ‘ภาวะมีบุตรยาก’ ทั้ง IUI IVF ‘ถูกลงหรือไม่’

Government-child-economy-aging-society-iui-ivf-SPACEBAR-Hero.jpg

ถือเป็นการช่วยเคลื่อนการเกิดอย่างมีคุณภาพได้ตรงจุด สำหรับรัฐบาล ที่ประกาศในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก ในปี 2567 ส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพภายในเดือนมีนาคม หลังประเทศไทยพูดกันมานานแล้ว ว่า ตกอยู่ในท่ามกลางสังคมสูงอายุ และตอนนี้ก็เข้าขั้น ‘เต็มรูปแบบ’ แล้ว และเป็นผลกระทบหลายด้านกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านแรงงาน ที่อาจพูดชัดๆ ได้ว่า ถ้าจะเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเต็มสูบ จะทำได้ยาก จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการพัฒนาบุคลากร คนยุคใหม่ เพิ่มขึ้น เพราะอีกด้านโลกก็ดิสรัปหลายมิติ และที่น่ากลัวในปัจจุบัน ก็คือ ค่านิยมคนรุ่นใหม่ ยังมอง เด็กเกิดใหม่เป็นภาระที่ต้องดูแล

รัฐเตรียมตั้ง ‘คลินิกส่งเสริมมีบุตร’

และน่ายินดี ที่รัฐบาล เริ่มพูดถึงเรื่องนี้ โดย น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยปัญหาเรื่องการมีบุตรน้อย ไม่กระทบแค่ด้านสาธารณสุข แต่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมอนามัย เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “Give Birth Great World การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่” สนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งจัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร บริการให้คำปรึกษา วางแผนการตั้งครรภ์ วินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยาก รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) และพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลให้สามารถให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ได้มากขึ้น

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันและส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ในการพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศได้ในเดือนมีนาคมนี้ 

จับตาการมีบุตร ที่เป็น ‘วาระแห่งชาติ’

สำหรับ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร มีสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีบุตรแต่ไม่อยากมีคู่ ให้มีโอกาสที่จะมีบุตรได้

 ทั้งนี้ ประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 ราย น้อยที่สุดในรอบกว่า 70 ปี และจำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย ทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564 และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดการณ์ว่า ในอีก 60 ปี ข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน เท่านั้น ซึ่งจะเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศในอนาคต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์