เริ่มจากมีการนำเสนอข่าวในออนไลน์เรื่องความนิยมในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งของผู้ใช้บริการในประเทศไทย จาก Redseer Strategy Consultant ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากลยุทธ์ ได้ให้ข้อมูล Insight ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน
ตัวเลขชุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ส่วนแบ่งการตลาดของแพลตทฟอร์ม LINE MAN สามารถขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด 44% ในขณะที่ Grab มีส่วนแบ่งการตลาด 40% อันดับสามคือ Shopee Food 10% และกลุ่มอื่นๆ เช่น Foodpanda และ Robinhood อยู่ที่ 6%
ในรายงานยังสรุปด้วยว่า ประเทศไทยที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อให้ธุรกิจนี้เติบโตได้อีก โดยไทยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย มีครัวเรือนจำนวน 19 ล้านครัวเรือน
ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 168,000 บาท ประมาณ 90% ของกลุ่มประชากรทั้งหมด
ไทยมีกลุ่มประชากรที่มีรายได้ปานกลางเติบโตแข็งแกร่ง กำลังการซื้อโดยรวมสูงพอจะตัดสินใจในการใช้จ่ายซื้อสินค้าบริการทั่วไปได้
ด้วยเนื้อหาประเมินแนวโน้มธุรกิจ สัดส่วน ก็เพียงพอต่อการนำเสนอข่าวสารออกสู่สาธารณะ แน่นอนว่า สำนักงาน เพจต่างๆ จำนวนมาก ก็นำเสนอโดยอ้างอิงจากบริษัทผู้ทำการเก็บข้อมูล และได้รับความสนใจจากผู้อ่านจำนวนมาก
แต่ถัดมาวันเดียว คือวันที 11 กันยายน บริษัท Grab ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ว่า ไม่ขอรับรองข้อมูลดังกล่าว เพราะบริษัทไม่เคยเปิดเผยข้อมูล Transaction แก่บุคคลภายนอกแต่อย่างใด
ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัทฯ ติดต่อ Redseer Strategy Consultants เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล รวมถึงระเบียบวิจัย และอาจดำเนินการตามกฎหมายตามที่บริษัทเห็นสมควรเพื่อปกป้องข้อมูลขององค์กรด้วย
สำหรับมูลค่าตลาดรวมการซื้อสินค้า และอาหารผ่านออนไลน์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่ามูลค่าตลาด Food Delivery ในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.0% จากปี 2566 ราคาเฉลี่ยในการสั่งต่อครั้งเพิ่มขึ้น 2.8% เป็น 185 บาท และยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ
การช่วงชิง และตอบโต้ของ 2 แพลตฟอร์มรายใหญ่ เกิดขึ้นหลังจากมีกระแสข่าวการขายแพลตฟอร์มโรบินฮู้ด ของ SCBX ที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับ 2 กลุ่มทุนใหญ่ ที่พร้อมจะนำโรบินฮู้ดไปต่อยอดธุรกิจของตัวเอง หากมีการเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มทุนใหม่ มีแนวโน้มว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้จะดุเดือดมากยิ่งขึ้น
