เตรียม Kick-Off มาตรการแก้หนี้สินครัวเรือนทั้งระบบ

20 พ.ย. 2566 - 06:49

  • หนี้ครัวเรือน อีกหนึ่งนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา

  • เตรียม Kick-Off 8 ธันวาคม นี้ ที่ Impact เมืองทองธานี

household-debt-economic-government-kick-off-quick-win-SPACEBAR-Hero.jpg

ความพยายามในการที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ให้พ้นจากการเป็นประเทศกับดักรายได้ปานกลาง นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายออก พรบ.เงินกู้ เพื่อแจกเงินดิจิตอลหมื่นบาท โดยการทุ่มเม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาทแล้ว อีกหนึ่งนโยบายคือการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินครัวเรือนของคนไทย ที่ปัจจุบันขึ้นไปแตะอยู่ในระดับ 90% ของ GDP ที่กลายเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ในปัจจุบัน

ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พูดถึงปัญหาหนี้สินที่รัฐบาลชุดนี้กำหนดให้เป็นอีกหนึ่งในวาระแห่งชาติที่ให้ความสำคัญ โดยระบุว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทย จำเป็นต้องมีการเร่งแก้ไขทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ โดยคาดว่าจะมีการประกาศแนวทางที่ชัดเจน ในช่วงต้นเดือนหน้า 

ทั้งนี้มีรายงานเปิดเผยว่า จะมีการจัดงานใหญ่เพื่อประกาศ Kick-Off อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ที่ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทางธานี 

ในระหว่างงานสัมนาหอการค้า นายกฯเศรษฐา ระบุว่าในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาสำคัญที่สุด เพราะเป็นหนี้ที่กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน 

รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะให้ ฝ่ายปกครอง นายอำเภอ และตำรวจ เรียกลูกหนี้กับเจ้าหนี้มาเจรจากัน เพราะหนี้นอกระบบดอกเบี้ยแพงมาก จึงต้องมีคนกลางในการเจรจาว่า ที่เขายังเป็นหนี้อยู่มีการชาร์จดอกเบี้ยเกินอัตราที่กำหนด ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นหนี้ที่มีอยู่ต้องยกเลิกกันไป เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้และเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ 

ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าวต้องทำร่วมกับกระทรวงการคลัง ฝ่ายความมั่นคง เพราะหนี้นอกระบบมักเป็นที่มาที่ไปของการก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น บางคนต้องทำงานหนักเพื่อนำเงินมาใช้หนี้นอกระบบ ส่วนหนี้ในระบบก็มีอยู่มาก ซึ่งจะประกาศแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาพร้อมกัน เพื่อเป็นความหวังให้กับประชาชน

ปัญหาหนี้สินครัวเรือน เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาโดยตลอดในสังคมไทย รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยกำหนดเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติมาก่อนเช่นกัน มีความพยายาม ที้จะแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร หนี้สินรายย่อย และหนี้นอกระบบ โดยมอบหมายให้ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ เป็นผู้ดูแล แต่ก็เริ่มขยับไปได้ไม่เท่าไร ก็มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่เสียก่อน

หลังจาก รัฐบาลนายกฯเศรษฐา เข้ามารับตำแหน่ง ก็ดูจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน โดย มีการออกนโยบายพักหนี้เกษตรกรไปแล้วเป็นเรื่องแรก และเพิ่งมีการเข้าไปดูเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีการแก้ไขกฎหมายใหม่จะรัฐบาลที่แล้ว ให้การปรับวิธีการคิดอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ตลอดจนวิธีการหักหนี้ใหม่ 

ในเวลาเดียวกัน ก็จะมีมาตรการในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับ ครู ตำรวจ และ บุคลากรด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในเรื่องของการหักหนี้หน้าซอง ที่ต้องเหลือให้กับลูกหนี้อย่างน้อย 30% เพื่อให้ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ 

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะกันหนี้เสีย NPL ของลูกหนี้ที่มีปัญหาในช่วงโควิด และติดรหัส 21ในบัญชีเครดิตบูโรออกมาดูแลเป็นพิเศษ โดยคาดว่าจะเริ่มจาก สถาบันการเงินของรัฐก่อน ที่อาจจะมีการกันหนี้จำนวนี้ออกมาให้กับ AMC หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ในเครือของแต่ละแห่งดูแล เพื่อให้สามารถเข้าโปรแกรมปรับโครงสร้าง รวมหนี้ ลดหนี้ ยืดหนี้ ให้กับลูกหนี้   

หากมองย้อนกลับไป ก็จะพบว่า แนวทางของรัฐบาลชุดนี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างจากแนวทางเดิมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่คงจะมีการเพิ่มความเข้มข้น และจริงจังให้มากขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์