หลัง “บอร์ดอีวี” หรือคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับไม้ต่อโดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ มาตรการ EV3.5 หรือ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 ในช่วง 4 ปี (พ.ศ.2567-2570) เพื่อผลักดันไทยเป็นฮับการผลิต EV ของภูมิภาค
ประเด็นหลักของ มาตรการ EV3.5 คือ ให้เงินอุดหนุน-ลดภาษี-เพิ่มการลงทุน หวังส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นฮับการผลิต EV ในอาเซียน (อ่านรายละเอียดมาตรการ EV 3.5 ได้ ที่นี่) และจะเริ่มต้น 2 มกราคม ปี 2567
ผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ต้องดำเนินการอย่างไร เตรียมตัวได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

- ต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ และมีการทำข้อตกลง (MOU) ให้เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 ร่วมกับกรมสรรพสามิต
- เมื่อได้รับการอนุมัติสิทธิแล้ว ผู้ขอใช้สิทธิจะต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีกแนะนำและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าก่อนเริ่มขายรถรุ่นนั้นๆ
- กรณีนำเข้า ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2 ให้แล้วเสร็จก่อนการนำเข้า จึงจะสามารถนำยานยนต์ไฟฟ้ามาขอรับสิทธิทางภาษีได้
- การขอรับเงินอุดหนุนหลังจากการจำหน่ายและจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด
- สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขการผลิตชดเชย บทลงโทษ ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ตามมาตรการ EV3.5 ให้เป็นไปตามที่กรมสรรพสามิตกำหนด
สำหรับ ยานยนต์ไฟฟ้าที่เคยได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.0 อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และประสงค์ที่นำยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมารับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 สามารถทำได้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
- ผู้ขอรับสิทธิต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ และมีการทำข้อตกลง (MOU) เพื่อเป็นผู้ได้สิทธิตามมาตรการ EV3.5 และต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีกแนะนำและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าที่ก่อนเริ่มจำหน่าย
- หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.0 ต้องยื่นหนังสือเพื่อแจ้งจำนวนคงเหลือของยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตาม EV3.0 แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ให้กรมสรรพสามิตทราบ ก่อนลงนามข้อตกลง EV3.5 กับกรมสรรพสามิต
- ยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตาม EV3.0 แต่ประสงค์จะนำมาเข้าร่วมมมาตรการ EV 3.5 จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีตามมาตรการ EV3.0 แต่เงินอุดหนุนและเงื่อนไขการผลิตชดเชย ตลอดจนบทลงโทษ และเงื่อนไขอื่นๆ ให้เป็นไปตามมาตรการ EV3.5
ทั้งนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าที่เคยได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.0 แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และไม่ประสงค์ที่นำยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมารับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 ต่อ จะยังคงมีภาระในการผลิตชดเชยการนำเข้าตามเงื่อนไขของมาตรการ EV3.0 โดยไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ได้รับไปแล้ว