7 นโยบาย ที่คนในวงการครีเอเตอร์อยากผลักดัน

1 พ.ย. 2566 - 07:30

  • การเติบโตอย่างรวดเร็วของวงการครีเอเตอร์ไทย แต่ยังมีหลายสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนรวมถึงสิทธิประโยชน์หลายด้านอย่างเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ

  • ส่อง 7 นโยบายที่คนในวงการครีเอเตอร์อยากผลักดัน

Icreator-propose-policy-for-government-SPACEBAR-Hero.jpg

เริ่มแล้ว! สำหรับงาน iCreator Conference 2023 Presented by SUPALAI งานที่รวบรวมเหล่าครีเอเตอร์คนดังมากมายมาแบ่งปันประสบการณ์ แชร์ความรู้ รวมถึงจุดประกายแรงบันดาลใจให้กับคนในวงการครีเอเตอร์และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน

ครีเอเตอร์ในประเทศไทยถือว่าเติบโตเป็นอย่างมาก และคนในประเทศก็ได้รับแรงกระเพื่อมจากคอนเทนต์หรือโฆษณาของครีเอเตอร์ตามแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งนี้แม้ธุรกิจในวงการครีเอเตอร์จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีหลายสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนรวมถึงสิทธิประโยชน์หลายด้านอย่างเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ

เซสชันแรกของ ในหัวข้อ ‘The Power of Creator Policy ร่วมผลักดันนโยบาย พลังใหม่แห่งวงการครีเอเตอร์’ โดยคุณเอ็ม ขจร เจียรนัยพานิชย์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ RAiNMaker และงาน iCreator Conference ได้แบ่งปันข้อมูลไว้ว่า ‘แม้อาชีพครีเอเตอร์จะได้รับความนิยมและเติบโตสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก แต่หลายคนที่ออกมาทำเป็นอาชีพหลักก็ได้ประสบถึงปัญหาในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมกับทางธนาคารเช่น เครดิตทางการเงิน หรือแม้แต่การทำเอกสารทางราชการเองด้วย นอกจากนี้ยังเชื่อว่าปี 2024 จะเป็นปีของ Creator ID หรือ Identity เป็นปีแห่งการหาตัวตนและความชัดเจน จึงเป็นที่มาของ 7 นโยบายที่คนในวงการครีเอเตอร์อยากผลักดันเข้าสู่สภา’

7 นโยบายที่คนในวงการครีเอเตอร์อยากผลักดัน

1.Creator Tax การควบคุมภาษีครีเอเตอร์

ปัญหา

  • เม็ดเงินโฆษณาสื่อออนไลน์ออกนอกประเทศสูง
  • ประเทศไทยหมดเงินไปกับการ Boost Post บนแพลตฟอร์ม
  • ประเทศไทยไม่มีช่องทาง หรือแพลตฟอร์มสนับสนุนสื่อจากครีเอเตอร์ หรือแบรนด์
  • แบรนด์ และครีเอเตอร์จำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มโซเชียลต่างประเทศไว้โพสต์คอนเทนต์

นโยบาย

  • นโยบายซื้อสื่อครีเอเตอร์ไทย สามารถหักภาษีได้ 200%
  • สร้างแพลตฟอร์มที่ครีเอเตอร์ ฟรีแลนซ์ติดต่อกับผู้จ้างได้โดยตรง
  • สนับสนุนการซื้อสื่อของครีเอเตอร์ภายในประเทศมากขึ้น

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • ดันให้แบรนด์ เอเจนซี สนับสนุนวงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทย
  • ลดอัตราการ Boost Post และลดการจ่ายเงินออกนอกประเทศ
  • พร้อมนำเงินเข้าประเทศมากขึ้น โดยรัฐเก็บภาษี 7% (ทำให้รัฐบาลมีภาษีวนในประเทศเพื่อพัฒนาประเทศ)

2.Creator as a Career การบรรจุอาชีพครีเอเตอร์

ปัญหา

  • ครีเอเตอร์ปัจจุบัน คือ อาชีพฟรีแลนซ์
  • ครีเอเตอร์ไม่ได้บรรจุเป็นอาชีพ จึงยากต่อการผลิตบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรม
  • ทุกคนสามารถเป็นครีเอเตอร์ได้ เพียงแค่มีช่องทางของตัวเอง
  • การเป็นครีเอเตอร์ ไม่ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ

นโยบาย

  • บรรจุครีเอเตอร์เป็นอาชีพ แทนการใช้คำว่า ‘ฟรีแลนซ์’
  • สร้างความเข้าใจกับผู้คนเรื่องอาชีพครีเอเตอร์ว่าสร้างรายได้ และมั่นคง
  • มีการทดสอบเพื่อแลกกับใบประกอบวิชาชีพ
  • สร้างจรรยาบรรณ และสร้างตัวตนให้ครีเอเตอร์

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • ครีเอเตอร์กลายเป็นอาชีพที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพ
  • อาชีพครีเอเตอร์สร้างรายได้อย่างมั่นคง
  • ครีเอเตอร์มีสหภาพแรงงานรองรับ

3. Creator’s Social Welfare สวัสดิการ ประกันสังคมครีเอเตอร์

ปัญหา

  • ครีเอเตอร์จัดอยู่ในกลุ่มระบบประกันสังคม ม.40 (ผู้ประกอบอาชีพอิสระ)
  • สิทธิ์ที่ได้รับถูกจัดอยู่ในกลุ่มระบบประกันสังคม ม.40 (ผู้ประกอบอาชีพอิสระ) มีทางเลือกการจ่ายเงินสมทบและรับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด 3 ทางเท่านั้น
  • ผู้ประกันตน ม.40 บังคับให้จ่ายสูงสุดได้แค่ 300 บาท/เดือน ทำให้สิทธิ์ไม่เท่าเทียมกับผู้ประกันตน ม.39 ที่จ่าย 432 บาท/เดือน
  • เมื่อเกิดวิกฤตมีแค่บางอาชีพที่รัฐบาลช่วยเหลือชดเชยเงินเยียวยา

นโยบาย

  • เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตน ม.40 ที่ทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์
  • สามารถสมัครใจจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้ประกันตน ม.39
  • เพิ่มโอกาสให้รัฐบาล และสมาคมออกเงินเยียวยาครีเอเตอร์

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • สามารถมีทางเลือกจ่ายเงินรับประกันสังคมของตัวเอง ตามสมัครใจมากขึ้น
  • มีประกันสังคมที่มั่นคง และครอบคลุมมากขึ้น
  • ผลักดันให้ครีเอเตอร์สร้างผลงาน และหารายได้เข้าประเทศเพิ่ม

4. Creator Association การรวบรวมกลุ่มสู่สมาคมครีเอเตอร์

ปัญหา

  • วงการโฆษณา ภาพยนตร์ และการออกแบบต่างก็มีสมาคมที่ครอบคลุมด้านการให้คุณค่าทางผลงา แต่ประเทศไทยยังไม่มีสมาคมครีเอเตอร์
  • ประเทศไทยมี CUT เครือข่ายอิสระหรือสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แต่ยังไม่มีสหภาพแรงงานครีเอเตอร์

นโยบาย

  • สร้างการรวมกลุ่มเป็นสมาคมครีเอเตอร์ไทยโดยมีกำหนดเกณฑ์การเป็นครีเอเตอร์ที่รับรู้ร่วมกันอย่างชัดเจน
  • สร้างจรรยาบรรณวิชาชีพครีเอเตอร์ให้ครอบคลุมทั้งการทำงานและสวัสดิการไปจนถึงทางกฎหมาย และสุขภาพจิต
  • ตั้งสมาคมครีเอเตอร์ไทยพร้อมหน่วยงานที่สนับสนุน เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านทุน เช่น อุปกรณ์ และการให้เช่าพื้นที่ หรือสตูดิโอ

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • ครีเอเตอร์ไทยจะมีสมาคมคอยช่วยเหลือ รองรับการทำงาน เสมือนอาชีพหนึ่งในทุกด้าน
  • ครีเอเตอร์สามารถสร้างผลงาน แลละส่งออก Soft Power สู่ตลาดโลกได้มากขึ้น

5. Creator Fund กองทุนสนับสนุนครีเอเตอร์

ปัญหา

  • ครีเอเตอร์ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตสูง ทั้งอุปกรณ์ และสถานที่
  • ไม่มีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ที่ดีเพียงพอ
  • ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทำให้มีข้อจำกัดในการทำคอนเทนต์
  • ส่วนมากมีกองทุนสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ด้านอื่น แต่มักไม่รวมครีเอเตอร์

นโยบาย

  • เพิ่มงบประมาณให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และขยายขอบเขต ให้ครอบคลุมครีเอเตอร์มากขึ้น
  • จัดตั้ง Creative Center เป็นศูนย์กลางให้ครีเอเตอร์สามารถขอทุนและยืมอุปกรณ์ ภาครัฐสนับสนุนเงินค่าตอบแทนเมื่อครีเอเตอร์สามารถส่งออก Soft Power ได้
  • เพื่อผลักดันให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาคอนเทนต์

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • ภาครัฐสนับสนุนเงินทุนอุปกรณ์ และโอกาสต่างๆ ทำให้ครีเอเตอร์มีโอกาสสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพและส่งออกนอกประเทศ รวมถึงสร้าง Soft Power ของไทยได้
  • ครีเอเตอร์เข้าถึงอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์มากขึ้น ทำให้สามารกยกระดับคุณภาพคอนเทนต์ได้
  • ครีเอเตอร์ประหยัดต้นทุน อุปกรณ์ หรือสถานที่ ได้มากขึ้น และสามารถนำเงินไปลงทุนกับส่วนอื่น ๆเพื่อเพิ่มคุณภาพคอนเทนต์

6. Creator Voucher เพิ่มทักษะการสร้างคอนเทนต์

ปัญหา

  • ทักษะเกี่ยวกับการสร้างคอนเทนต์ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในหลักสูตรพื้นฐานในสถานศึกษา หากไม่ใช่สายเรียนหรือคณะที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงต้องไปหาคอร์สเรียนเสริมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมเอง
  • คอร์สเรียนเสริมทักษะเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ค่อนข้างสูง

นโยบาย

  • เพิ่มสถานศึกษาหรือศูนย์ฝึกที่รวมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ให้คนสามารถนำ Voucher มาเรียนเสริมทักษะต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำคอนเทนต์
  • แจก Voucher ให้เรียนเสริมทักษะนอกห้องเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวงการครีเอเตอร์ได้ในงบ 2,000 บาทปี ต่อคน ภายใต้หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์เท่านั้น เช่น การเรียนยิง Ads, การเรียนวิธีการทำ SEO หรือการตัดต่อวิดีโอ เป็นต้น
  • Voucher รายปี จะมีการกำหนดเกณฑ์ผู้รับ รวมถึงขอบเขตคอร์สเรียนชัดเจน โดยต้องมีอายุตั้งแต่ 18-30 ปี
  • กระจายรายได้และสร้างแรงจูงใจให้ผู้เชี่ยวชาญในวงการหันมาพัฒนาการสอน โดยการพาร์ตเนอร์กับศูนย์ฝึก เอเจนซี หรือครีเอเตอร์ที่เป็นเทรนแนอร์

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • ได้รับ Voucher เรียนฟรีรายปี เพื่อเรียนรู้และพัฒนาทักษะสู่การเป็นครีเอเตอร์จากนอกห้องเรียน รวมถึงสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับวงการครีเอเตอร์ได้
  • เปิดโอกาสให้คนมีทางเลือกในการเรียนรู้เสริมทักษะการทำคอนเทนต์เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะการสร้างคอนเทนต์ของตัวเอง
  • เกิดการหมุนเวียนรายได้วงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพราะคนนำ Voucher เรียนฟรีมาใช้กับพาร์ตเนอร์ที่ร่วมโครงการ

7. Creator Class ยกระดับการศึกษาสู่การเป็นครีเอเตอร์

ปัญหา

  • นอกจากคณะตามมหาวิทยาลัยแล้ว น้อยมากที่ตามโรงเรียนจะมีหลักสูตร เปิดสอนทักษะเกี่ยวกับการเป็นครีเอเตอร์
  • หลักสูตรคณะที่เกี่ยวข้องกับวงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เช่น คณะนิเทศศาสตร์บางแห่งยังไม่ครอบคลุม หรือตามทันโลก รวมถึงขาดการเข้าถึงอุปกรณ์ที่เพียงพอและเหมาะสม
  • ประชาชนยังขาดการปลูกฝังเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) อย่างเหมาะสม ทั้งที่ปัจจุบันโลกอยู่ในยุคดิจิทัลที่ทุกคนควรมีความรู้เกี่ยวกับการเสพและผลิตสื่อในทุกระดับการศึกษา

นโยบาย

  • เพิ่มวิชาทางเลือกที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างทักษะการเป็นครีเอเตอร์ในทุกระดับการศึกษา
  • ยกระดับหลักสูตรการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ และคณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทักษะในการต่อยอดสู่การเป็นครีเอเตอร์
  • รัฐบาลสนับสนุนสถานที่และอุปกรณ์ในการเรียนการสอนให้ครบถ้วน เพื่อมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่สมจริง
  • จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการเป็นครีเอเตอร์ เช่น จัดการประกวด, จัดค่ายอบรมหรือจัดกิจกรรม Workshop เป็นต้น

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • มีโอกาสได้เลือกวิชาเสริมทักษะการเป็นครีเอเตอร์ แม้ไม่ได้เรียนในคณะหรือสาขาที่เกี่ยวข้องโดยตรง
  • มีโอกาสได้เลือกวิชาเสริมทักษะการเป็นครีเอเตอร์ นักศึกษาในคณะที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างคณะนิเทศศาสตร์ได้มีโอกาสเข้าถึงหลักสูตรที่ตามทันโลก และอุปกรณ์ที่เพรียบพร้อมในการเรียนการสอน ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริงในอนาคต
  • มีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์การพัฒนาทักษะ ได้เข้าถึงและเข้าร่วมการพัฒนาทักษะการเป็นครีเอเตอร์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มทักษะและศักยภาพในการสร้างสรรค์คอนเทนต์

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถอัปเดตข้อมูลข่าวสารในแวดวงครีเอเตอร์และติดตามการจัดงานครั้ง ต่อไป ได้ที่ www.rainmaker.in.th , Facebook Page : RAiNMaker และ Twitter @rainmakerth #iCreator2023 #iCreatorConference

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์