กนอ.ประชุมทวน AAR วิเคราะห์ฯ ไฟไหม้มาบตาพุดแทงค์

19 พ.ค. 2567 - 06:31

  • กนอ. จัดประชุมทบทวน AAR ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน

  • วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน-อุปสรรค กรณีเหตุเพลิงไหม้ บ.มาบตาพุด แทงค์ฯ

  • กำหนดมาตรการ 4 ด้าน ป้องกันเกิดเหตุซ้ำ!

ieat-after-action-review-aar-fire-map-ta-phut-tank-terminal-SPACEBAR-Hero.jpg

กนอ. กำหนด 4 มาตรการ เตรียมบังคับใช้ป้องกันไฟไหม้ซ้ำซาก หลังเกิดเหตุที่ มาบตาพุดแทงค์ ชี้ เป็นการยกระดับมาตรการขึ้นอย่างเข้มงวด จริงจัง ทั้งด้านการปรับปรุงระบบการแจ้งข่าวสารระหว่างเกิดเหตุ แผนอพยพ ซ้อมแผนฉุกเฉิน และรวมถึง การทำแผนส่วนเกี่ยวข้องโรงงาน ที่อาจมีท่อก๊าซที่เชื่อมโยง สร้างความเชื่อมั่นประกอบกิจการ สมดุลสังคมยั่งยืน

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บวัตถุดิบสาร C9+ ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า กนอ.และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีการจัดประชุมทบทวน หลังการปฏิบัติงาน (After Action Review - AAR) เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน สะท้อนจุดแข็ง จุดอ่อน และอุปสรรค ในการปฏิบัติงานภายใต้แผนเผชิญเหตุ แผนอพยพ แผนช่วยเหลือ และร่วมกันหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข โดยยกระดับมาตรการต่างๆ ให้มีความเข้มงวด รัดกุม ครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใน 4 มาตรการ ดังนี้

• มาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุ มุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมเชิงป้องกัน ปรับรูปแบบการดำเนินการ กฎระเบียบต่างๆ ให้ตรงกับความคาดหวังของประชาชน สังคม และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ หรือ หากเกิดเหตุแล้วสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดและสามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที 

• มาตรการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน โดยบูรณาการแผนฉุกเฉินร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ยกระดับบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของความชัดเจนในขอบเขตหน้าที่ที่รับผิดชอบและสิ่งที่ต้องดำเนินการ รวมถึงความพร้อมของวัสดุดับเพลิง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการตอบโต้เหตุฉุกเฉิน

• มาตรการสื่อสารภาวะวิกฤต ที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันท่วงที เพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ลดความวิตกกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และบริหารจัดการในภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

• มาตรการเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้ได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนโดยรอบนิคมฯ

ieat-after-action-review-aar-fire-map-ta-phut-tank-terminal-SPACEBAR-Photo02.jpg

ผู้ว่าการ กนอ. ยังขอบคุณทุกหน่วยที่เข้าร่วมและสนับสนุนอุปกรณ์การระงับเหตุ ประกอบด้วย บริษัท PTT LNG,  เทศบาลเมืองมาบตาพุด, เทศบาลนครระยอง, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 6, บริษัท NPC S&E จำกัดบริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท IRPC จำกัด และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยในการระงับเหตุ การอพยพ และบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ด้วย

“กนอ. จะบังคับใช้มาตรการที่ยกระดับขึ้นนี้อย่างเข้มงวด จริงจัง ทั้งในด้านของการปรับปรุงระบบการแจ้งข่าวสารระหว่างเกิดเหตุ แผนการอพยพ การซ้อมแผนฉุกเฉินที่ต้องครอบคลุมทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการจัดทำแผนในส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องกับโรงงานโดยรอบที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กัน ซึ่งบางโรงงานอาจมีท่อก๊าซที่เชื่อมโยงกันด้วย อาจจะได้รับผลกระทบหรือเป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบกิจการ และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน”

นายวีริศ กล่าว

ieat-after-action-review-aar-fire-map-ta-phut-tank-terminal-SPACEBAR-Photo03.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์