หมูเถื่อนล้นทะลัก ใครเดือดร้อน ? ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

17 พ.ย. 2566 - 07:17

  • โรคระบาดในหมู ทำให้การผลิตลดลงกว่า 50% หมูไทยโตไม่ทันกินและแพงกว่าหมูนอก เปิดช่องให้ขบวนการลักลอบ นำเข้าหมูราคาถูกป้อนตลาด

  • หมูนอกถูกกว่าหมูไทย เพราะรัฐอุดหนุนต้นทุนการผลิต ส่วนหมูไทยอยู่ในกำมือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่คุมการผลิตแบบครบวงจร ต้องแบกรับต้นทุนอาหารเอง

  • ผู้ผลิตหมูรายใหญ่ในประเทศ ที่ควบคุมห่วงโซ่การผลิตเนื้อหมู ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปถึงปลายน้ำ การจะทำให้อาหารสัตว์ถูกลงไม่ง่าย เพราะคนขายอาหารสัตว์ กับคนรับซื้อหมูเป็นคนเดียวกัน

Illegal-pork-in-thailand-SPACEBAR-Hero.jpg

เรื่องหมู....หมู  แต่กลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ กำลังการผลิตในประเทศ ขาดแคลนเพราะโรคระบาด กำลังการผลิตลดลงกว่า 50% กลไกการครอบครองตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่  ทำให้ผู้เลี้ยงหมูไม่สามารถลืมตา อ้าปากได้  

 ปัญหาหมูเถื่อนล้นทะลัก เพราะหมูไทยโตไม่ทันกินและแพงกว่าหมูนอก  เปิดช่องให้ขบวนการลักลอบ นำเข้าหมูราคาถูกป้อนตลาดหมูกระทะ  หมูนอกถูกกว่าหมูไทย เพราะรัฐอุดหนุนต้นทุนการผลิต  ส่วนหมูไทยอยู่ในกำมือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่คุมการผลิตแบบครบวงจร ต้องแบกรับต้นทุนอาหารเอง

ของเถื่อนปราบเท่าไรก็ไม่หมด ตราบใดที่ของไม่เถื่อนขาดแคลน ไม่พอกับความต้องการ และมีราคาแพง 

หมูเถื่อนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทย ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา  เพราะหมูไทยล้มตายไปกว่าล้านตัวจากโรคอหิวาต์ อาฟริกา ในสุกร หรือ ASF -African swine fever  ที่ระบาดในปี 2564  ฟาร์มหมูปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก  เนื้อหมูหายไปจากตลาดถึง 50 % ราคาบางช่วงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 200 บาท  ทำให้มีการลักลอบนำหมูเถื่อน แช่แข็งเข้ามาในประเทศไทย 

หมูเถื่อนคือ หมูที่ผู้นำเข้าแจ้งเท็จว่าเป็นปลาทะเล แช่แข็ง หรือเม็ดพลาสติด หรือสินค้าอื่นๆ โดยการสมรู้ร่วมคิดของผู้นำเข้า ชิปปิ้ง คนในท่าเรือ เจ้าหน้าที่ศุลกากร เป็นหมูที่ไม่ผ่านการตรวจสอบว่า ปลอดภัย ปราศจากสารเร่งเนื้อแดง หรือเชื้อโรคหรือไม่  

นำเข้ามาจากบราซิล ประเทศในกลุ่มอียูคือ เนเธอร์แลนด์  เยอรมนี และสเปน ประเทศเหล่านี้ มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าหมูไทย อย่างบราซิล ซึ่งมีต้นทุนผลิตต่ำที่สุดในโลก ประมาณ 39.55 บาทหรือ ประมาณ 1.13 ดอลลาร์ ต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตหมูไทยถึง 50 % ประเทศอื่นๆที่เลี้ยงหมูติดอันดับโลกเช่น สหรัฐ สเปน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี มีต้นทุนต่ำกว่าหมูไทยทั้งนั้นแต่คนกินหมูน้อยกว่าที่ผลิตได้จึงต้องส่งออก ตลาดเป้าหมายคือเอเชีย ตะวันออกที่คนกินหมูมาก รวมทั้งไทย  

หมูฝรั่งถูกกว่าหมูไทย เพราะรัฐบาลให้เงินอุดหนุนในเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และอียู ซึ่งกลุ่มเกษตรกรเป็นฐานเสียงที่สำคัญเวลาเลือกตั้ง ส่วนบราซิลเป็นประเทศที่ผลิตถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ มากเป็นที่ 1 หรือ 2 ของโลก จึงมีราคาถูก อาหารสัตว์เป็นต้นทุนประมาณ 40-50% เมื่ออาหารถูก ราคาเนื้อหมูจึงถูกด้วย ถูกถึงขนาดที่ว่าขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลเสียค่าเช่าห้องเย็นหลายๆเดือนหรือเป็นปีไม่เสียภาษี แต่จ่ายสินบน ใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ก็ยังถูกกว่าหมูไทยเยอะ  

ปราบเท่าไรก็ไม่หมด เพราะมีราคาถูกกว่าหมูในประเทศมาก ร้านหมูกระทะที่มีอยู่ทั่วทุกหนแห่ง   คือ ตลาดที่รองรับหมูเถื่อนเหล่านี้ เพราะต้นทุนหมูที่ถูกกว่า ทำให้ตั้งราคาขายกันแค่หัวละ 200 กว่าบาท กินไม่อั้นได้ โดยที่ยังไม่เคยมีข่าวว่า มีคนเจ็บป่วย ไม่สบายเพราะกินหมูกระทะที่ใช้หมูเถื่อน ตัดเรื่องอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดงที่ในต่างประเทศใช้กัน การล้นทะลักเข้ามาของหมูเถื่อนถูกต้องแล้วตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานเป็นไปตามกลไกอุปสงค์ อุปทาน และจุดสมดุลของราคา  สุดท้ายผู้ได้ประโยชน์คือ ผู้บริโภค 

ทำไมหมูไทยจึงแพง ในขณะที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะ สหรัฐฯและอียู รัฐบาลให้ความคุ้มครองอุตสาหกรรมสุกร ผู้เลี้ยงหมูไทยจำนวนมากอยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming  ของผู้ผลิตรายใหญ่เพียง  3 ราย โดยเฉพาะรายใหญ่ที่สุดที่ควบคุมห่วงโซ่การผลิตเนื้อหมู ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ คือ ขายอาหารหมู พันธุ์หมู ยารักษา ระบบบริหารจัดการฟาร์ม รับซื้อหมู ส่งเข้าโรงฆ่า โรงงานแปรรูป ส่งไปขายในร้านสะดวกซื้อ ร้านขายส่ง ขายปลีก ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ถ้าหมูในประเทศถูกลง หมูเถื่อนก็จะหมดไป หรือน้อยลง หมูในประเทศจะถูกลง ต่อเมื่อต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะอาหารสัตว์ถูกลง แต่การที่คนขายอาหารสัตว์ กับคนรับซื้อหมู เป็นคนเดียวกัน การจะทำให้อาหารสัตว์ถูกลงไม่ง่าย  

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2563-2564 ประเทศไทยมีผู้เลี้ยงหมูประมาณ 190,000ราย ผลิตหมูได้ประมาณ 20 ล้านตัวต่อปี เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ประมาณ 10,000 ราย มีจำนวนหมูรวมกันมากกว่า 10 ล้านตัว อีก 180,000 ราย เป็นผู้เลี้ยงหมูรายเล็กและรายย่อย มีหมูรวมกันราว 10 ล้านตัว 

ผู้ผลิตหมูรายใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกคือ

  1. ซีพีเอฟ หรือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ มีส่วนแบ่งตลาด28เปอร์เซ็นต์ 
  2. บริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งตลาด 15 เปอร์เซ็นต์ 
  3. บริษัทไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาด 5 เปอร์เซ็นต์

ทั้ง 3 ราย ผลิตหมูแบบครบวงจร ทั้งการผลิตพ่อแม่พันธุ์  ผลิตและขายอาหารสัตว์  เลี้ยงหมูเอง และเลี้ยงในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง มีโรงงานชำแหละและแปรรูปหมู ไปจนถึง ช่องทางขายส่ง ขายปลีกเนื้อหมูของตัวเอง 

ซีพีเอฟ รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ว่า ขาดทุนสุทธิ 1,837 ล้านบาท ต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่ขาดทุน793   ล้านบาท  เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และราคาเนื้อหมูต่ำกว่าปีก่อน เพราะปริมาณเนื้อสุกรมากกว่าความต้องการบริโภค  โดยประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศอีกด้วย  

เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างซีพีเอฟ ยังต้องเดือดร้อนเพราะหมูเถื่อน การปราบปราบขบวนการหมูเถื่อนจึงกลายเป็นวาระเร่งด่วนของชาติในทันที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์