กรณีการแถลงข่าวของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด วานนี้ (21 เม.ย.) ซึ่งอ้างตกเป็นจำเลยสังคม หลังเหล็กอาคารสำนักงาตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่ม ถูกตรวจพบสัญลักษณ์ SKY กลายเป็นข้อกล่าวหา ซินเคอหยวน ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐาน ก่อนที่ ทนายตัวแทนซินเคอหยวน จะชี้แจงทุกประเด็นโดยละเอียด พร้อมกับเน้นย้ำ ถึงการตรวจสอบหาค่ามาตรฐานเหล็ก โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ว่า การเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ เพื่อไปตรวจสอบเป็นคนละส่วน โดยการการตรวจหาค่ามาตรฐานเหล็ก ต้องใช้เหล็กใหม่ ไม่สามารถเก็บตัวอย่างเหล็กจากซากตึกไปตรวจสอบได้ เนื่องจากเหล็กดังกล่าว ผ่านการใช้งานมาแล้ว จึงไม่สามารถอ้างอิงตามค่ามาตรฐานได้
ดังนั้น ผลการตรวจสอบเหล็กจากตึก สตง.ถล่ม ของสถาบันเหล็กฯ ซึ่งเป็นเหล็กที่ถูกใช้งานแล้ว จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะบอกว่าเหล็กตกมาตรฐาน เพราะการตรวจสอบอยู่นอกขอบข่ายของห้องปฏิบัติการ จึงไม่สามารถนำมาวัดค่ามาตรฐานอุตสาหกรรมได้ หมายความว่าผลการตรวจสอบสารโบรอนนำมาใช้อ้างอิงว่าต่ำกว่ามาตรฐานให้มีผลทางกฎหมายเป็นไปด้วยความไม่ชอบธรรม แม้ผลการตรวจสอบเหล็กของอีก 2 บริษัทจะออกมาตรงตามมาตรฐานก็ตาม อีกทั้งบริษัทไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบด้วย ทางบริษัทจึงไม่รับรู้ผลการตรวจสอบแต่อย่างใด
ประเด็นนี้ ก็ทำให้ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (IRON AND STEEL INSTITUTE OF THAILAND) ได้ออกหนังสือชี้แจง ขีดความสามารถและศักยภาพของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบทางเคมีของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า
ตามที่ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยถูกพาดพิง จากการแถลงข่าวของบริษัท ชินเคอ
หยวน สตีล จำกัด ว่าเครื่องมือทดสอบสำหรับการวิเคราะห์ค่าปริมาณของธาตุโบรอนในผลิตภัณฑ์เหล็ก ไม่ได้ตามมาตรฐาน ไม่สามารถตรวจค่าต่ำกว่า 9 ppm (9 ส่วนในล้านส่วน) ได้ นั้น
วิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า
สถาบันเหล็กฯ ทำการวิเคราะห์ค่าปริมาณของธาตุโบรอนในผลิตภัณฑ์เหล็กด้วยเครื่องทดสอบส่วนผสมทางเคมีของโลหะ (Optical Emission Spectrometer; OES) ยี่ห้อ Spectrolab รุ่น Model : Lavm12, Type : 76004140 S/N : 16002150 ซึ่งเป็นยี่ห้อขั้นน้ำที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และผลิตไนประเทศเยอรมัน
โดยเครื่องทดสอบดังกล่าวมีขีดความสามารถในการทดสอบ (range) ที่สามารถทดสอบส่วนผสมของธาตุโบรอน (B) ได้ตั้งแต่ 0.0001% (1 ppm) ถึง 0.014% (140 ppm) ซึ่งครอบคลุมช่วงของปริมาณธาตุโบรอน ตามข้อกำหนดของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กข้ออ้อย ที่กำหนดให้ปริมาณของธาตุโบรอนจะต้องไม่เกิน 0.0008% (8 ppm) จึงสามารถตรวจสอบปริมาณธาตุโบรอนได้อย่างแม่นยำแน่นอน
อนึ่ง ผลการตรวจสอบปริมาณธาตุโปรอนในผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กข้ออ้อยของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2567 พบว่าเหล็กข้ออ้อย ขนาด DB32 ชั้นคุณภาพSD5D50 มีปริมาณธาตุโบรอน 10 ppm ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และเหล็กข้ออ้อย ขนาด DB25 ชั้นคุณภาพ SD40 มีปริปริมาณ ธาตุโบรอน 12 ppm ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน
ดังนั้น การอ้างว่าเครื่องทดสอบที่สถาบันเหล็กฯ ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นเครื่องทดสอบที่ไม่สามารถตรวจได้อย่างแม่นยำนั้นไม่เป็นความจริง อีกทั้งผลการตรวจสอบ ปริมาณธาตุโบรอนที่เกินมาตรฐานที่ 10 -12 ppm ก็อยู่ในช่วงการวัดที่เครื่องทดสอบทำงานได้อย่างแม่นยำ โดยไม่มีข้อถกเถียง