รถญี่ปุ่น เบอร์ 1 ที่รอวันเสียแชมป์? เสียงกระซิบยอดจองรถ Motor Show 2024

18 เมษายน 2567 - 04:30

spacebar สเปซบาร์, Toyota, โตโยต้า, Honda, ฮอนด้า, Suzuki, ซูซูกิ, Mitsubishi, มิตซุบิชิ BYD, บีวายดี, Aion, MG, Changan, GWM, MotorExpo, MotorShow, EV, รถยนต์ไฟฟ้า, ค่ายรถจีน, ค่ายรถญี่ปุ่น
  • ค่ายรถญี่ปุ่นยังครองอันดับ 1 ยอดจองรถ Motor Show 2024

  • อัดโปรฯ สู้ คือกลยุทธ์ที่ค่ายรถญี่ปุ่นใช้ต่อกรกับ EV ค่ายรถจีน

  • ค่ายรถ EV จีนพร้อมเล่นสงครามราคา และได้แรงหนุนจากมาตรการ EV3.5 ในระยะยาว ค่ายรถญี่ปุ่นอาจต้านไม่ไหว

บทสรุปยอดจองรถ Motor Show 2024 ค่ายรถญี่ปุ่นยังคงครองอันดับ 1 ทำสถิติยอดจองเพิ่มขึ้นจากงาน Motor Expo 2023 เมื่อปลายปี 66

แต่ถ้ามองในรายละเอียด จะพบว่ายอดจองที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการกระตุ้นยอดขายสู้กับ EV จากค่ายรถจีนที่ได้รับโปรโมชั่นจากภาครัฐผ่านนโยบาย EV3.5

ขณะเดียวกัน ค่ายรถจีนที่อัดโปรฯ สู้กันเอง เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดใหม่ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ดึงค่ายรถญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เป็น ‘รถน้ำมัน’ ให้ต้องเดินเข้าสมรภูมิสงครามราคา

จะเห็นว่าตั้งแต่ต้นปี 67 จนถึงงาน Motor Show 2024 (27 มีนาคม - 7 เมษายน) ที่ผ่านมา ค่ายรถญี่ปุ่นขับเคี่ยวกับค่ายรถจีนกันดุเดือด โดยเฉพาะค่ายรถญี่ปุ่นที่ ‘อัดโปรฯ’ สู้ค่ายรถจีน เพื่อหวังรักษาหัวหาดในตลาดประเทศไทย

spacebar สเปซบาร์, Toyota, โตโยต้า, Honda, ฮอนด้า, Suzuki, ซูซูกิ, Mitsubishi, มิตซุบิชิ BYD, บีวายดี, Aion, MG, Changan, GWM, MotorExpo, MotorShow, EV, รถยนต์ไฟฟ้า, ค่ายรถจีน, ค่ายรถญี่ปุ่น
Photo: รถญี่ปุ่น รอวันเสียแชมป์? เสียงกระซิบจากยอดจองรถ Motor Show 2024

เทียบสถิติยอดจอง Motor Expo 2023 และ Motor Show 2024 แบบค่ายต่อค่าย จะเห็นว่า #รถญี่ปุ่น เกือบทุกค่ายมียอดจองสูงขึ้น (ยกเว้นฮอนด้าที่ลดลงจาก 6,149 คัน เหลือ 4,607 คัน)

ขณะที่ #รถจีน ยอดจองน้อยลงทุกค่าย โดยยอดจองค่ายรถจีนที่หายไป 2,769 คัน เห็นได้ชัดว่าถูกแบ่งไปที่ค่ายรถญี่ปุ่น

แต่การครองแชมป์ของค่ายรถญี่ปุ่นครั้งนี้ ไม่เหมือนครั้งที่แล้วๆ มา เพราะเป็นการรักษาตำแหน่งแบบเปิดหน้าอัดโปรใส่กันแบบที่กูรูยานยนต์บอกว่า “ไม่เคยเห็นมาก่อน”

คำถามคือ ค่ายรถญี่ปุ่นวันนี้เป็นแชมป์เก่าที่ใกล้หมดยุคสมัยหรือเปล่า เพราะในโลกที่นักลงทุนเป็นผู้กำหนดกติกา กำลังผันทุนจำนวนมหาศาลไปหามิติที่ตอบโจทย์ ‘ความยั่งยืน’ มากขึ้นทุกวัน กราฟมูลค่าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าจึงสูงขึ้น สวนทางกับรถน้ำมันที่ค่อยๆ ถูกกลืนจากกระแสคลื่น EV และยานยนต์พลังงานทางเลือก

ทั้งนี้ ถ้ามองเกมระยะยาว จุดจบของเกมนี้จะลงเอยที่ EV (แบบที่จีนอยากให้เป็น) หรือจะเป็น Multi-Pathway ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่หลากหลายทั้ง ไฟฟ้า, ไฮบริด, ไฮโดรเจน และน้ำมัน (แบบที่ญี่ปุ่นคิดว่า นี่คือวิถีทางที่ดีและตอบโจทย์ที่สุด)

ซึ่งคำตอบสุดท้ายยากจะรู้ได้ เพราะเกมนี้เพิ่งเริ่มสตาร์ท คงต้องดูกันอีกสักระยะ

สำหรับตลาดประเทศไทย รถน้ำมันยังมีพื้นอยู่มาก เพราะรถ EV วันนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ “คนไทย” ทุกกลุ่มและพื้นที่ เพราะข้อจำกัดด้านสถานีชาร์จ โครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นใจในการใช้งานและเซอร์วิส

คนส่วนใหญ่ที่ซื้อ EV วันนี้ มักเป็นคนที่อยู่ในเขตเมือง ส่วนใหญ่มีเงินพอที่จะซื้อมา ‘ทดลองใช้’ และที่บ้านมีรถมากกว่าหนึ่งคัน ส่วนคนกลุ่มอื่นนอกจากนั้น รถน้ำมัน (หรือไฮบริด) ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น และตอบโจทย์มากกว่า เพราะ ‘แพลตฟอร์ม’ ตอนนี้เอื้อต่อการใช้รถน้ำมัน ตั้งแต่ปั้มน้ำมัน อะไหล่ การซ่อมบำรุง และเซอร์วิส

การต่อสู้ระหว่างค่ายรถญี่ปุ่นและจีนในตลาดรถยนต์ในไทยเพิ่งโหมโรง จีนคงเดินหน้าทำสงครามราคาต่อไป เพราะมีโปร EV3.5 หนุนจากภาครัฐ ส่วนญี่ปุ่นจะงัดไม้ไหนมาสู้ น่าจะเผยไต๋ในช่วงใกล้งาน Motor Expo ช่วงปลายปี

เพราะการสูญเสียสถิติยอดจองอันดับ 1 ให้กับจีน ไม่ใช่แค่การเสียแชมป์ แต่อาจหมายถึงจุดเปลี่ยนของตลาดรถยนต์ในประเทศไทย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์