หลังจากที่มีเจ้าหนี้และผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้จำนวนรวมกว่า 90 ราย ยื่นคัดค้านขอเพิกถอนมติการประชุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เพี่อโหวตหาผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยอ้างว่าเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงพิจารณาให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ หรือกรมบังคับคดี รายงานชี้แจงข้อโต้แย้งภายในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา และเลื่อนพิจารณาแต่งตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการใหม่เป็นวันนี้ ( 7 สิงหาคม 2567)
มีรายงานว่ามีกลุ่มเจ้าหนี้รวม 3 กลุ่มที่ทำหนังสือคัดค้าน โดยทั้งหมดต่างก็มีประเด็นโต้แย้งผลการลงมติในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ไปในทิศทางเดียวกันคือระบุว่ามีการกระทำที่ไม่สุจริตจากฝั่งตัวแทนลูกหนี้คือ JKN ที่พยายามจะทำให้ผลโหวตที่จะเสนอให้ตัวแทนฝั่งเจ้าหนี้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ได้เสียงต่ำกว่า 2 ใน 3 จากเจ้าหนี้ทั้งหมด เพื่อให้ต้องแต่งตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูฯจากฝั่งลูกหนี้คือ JKN แทน โดยมีการเพิ่มตัวเลขเจ้าหนี้หลังวันที่ 21 มิถุนายน ที่เป็นวันสุดท้ายที่กำหนดให้แสดงหลักฐานของความเป็นเจ้าหนี้ ก่อนจะมีการประชุม
เจ้าหนี้ผู้คัดค้านมีความเห็นว่า ผู้บริหารของ JKN Global Group มีการกระทำที่ไม่สุจริต ขาดความโปร่งใส และดำเนินการไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ล้มละลายปี 2543 โดยยินยอมให้เจ้าหนี้รวม 10 ราย ร่วมออกเสียง ทั้งๆที่เจ้าหนี้ดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงยอดหนี้ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้ตัดสิทธิ์ไม่ให้ร่วมโหวตลงคะแนนไปแล้ว
ทั้ง 10 รายประกอบด้วย 1. นางเครือแก้ว เหลืองสวัสดิ์ 2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท โซนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เน็ตเวิร์ค อินเดีย พีทีอี จำกัด 4. Off The Fence Pte. Ltd. 5. บริษัท แอสเซ็นทริค มีเดีย แคปปิตอล จำกัด 6. JKN Global Content Pte. Ltd. 7. บริษัท เจเคเอ็น เอนเนอร์จี จำกัด 8. บริษัท ไคเชน แคพพิทอล พีทีอี แอลทีดี 9. บริษัท สตาร์ เน็ตเวิร์ค อินเดีย พีทีอี จำกัด และ 10.Zee Asia Media Pte. Ltd.
ตัวแทนฝั่งเจ้าหนี้ที่ยื่นคัดค้านระบุว่า เจ้าหนี้ทั้ง 10 ราย ไม่สามารถแสดงหลักฐานความเป็นเจ้าหนี้ต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ และถูกตัดสิทธิ์ในการออกเสียงในวันประชุมไปแล้ว แต่เมื่อถึงวันประชุมกลับมีการให้สิทธิ์โหวตทำให้มีเสียงเพิ่มขึ้นมาในฝั่งที่โหวตไม่เลือกตัวแทนจากฝั่งเจ้าหนี้ จำนวน 1,139,819,701.65 เสียง และเป็นเหตุให้ คะแนนเสียงของฝั่งเจ้าหนี้ที่ออกเสียงให้
บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ได้ไม่ถึง 2 ใน 3 ของเสียงจากเจ้าหนี้ทั้งหมด
ขณะเดียวกันหากพิจารณาจากหลักฐานทางการเงิน ก็มีการกระทำที่ไม่โปร่งใสของลูกหนี้คือ JKN เพราะยอดหนี้ของเจ้าหนี้ทั้ง 10 ราย ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนหน้าการประชุม ทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับรู้ถึงจำนวนหนี้ที่แท้จริง และผู้บริหาร JKN ยังจงใจที่จะไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับทราบ โดยการประวิงเวลาและเลื่อนการส่งงบการเงินงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 มาแล้วถึง 3 ครั้ง
ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผ่านมายังมีการออกหนังสือเชิญประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ในวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยอ้างชื่อของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์คนหนึ่ง ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ส่วนใหญ่เกิดสำคัญผิด และไปประชุมกันเป็นจำนวนมาก โดยในการประชุมมีการชี้แจงเพื่อโน้มน้าวให้เจ้าหนี้ หุ้นกู้สนับสนุนให้ JKN เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ
หลังจากนั้นยังมีการประชุมต่อมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำเสนอตารางการชำระเงินคืนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการชักจูงให้ผู้ถือหุ้นกู้เชื่อว่าจะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยได้มีการชี้แจงจาก ‘แอน’ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ JKN โดยระบุว่าจะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ครบทั้ง 100% ซึ่งเป็นการเสนอผลประโยชน์อื่นใดที่ทำให้ผู้ทำแผนฟื้นฟูฯรายอื่นเสียเปรียบ
เพราะหตุทั้งหมดที่ประกอบคำร้องดังกล่าว ตัวแทนเจ้าหนี้หุ้นกู้ทั้ง 3 กลุ่มจึงขอให้ศาลมีคำสั่งยกเพิกถอน บริษัท JKN Global Group ลูกหนี้จากการเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ และขอเสนอให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ทำแผนแทน
คงต้องจับตามองว่า ในวันนี้ศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาคำร้องเรียนดังกล่าวจากกลุ่มตัวแทนเจ้าหนี้หู้นกู้อย่างไร และบทสรุปสุดท้าย แอน จักรพงษ์ จะยังคงได้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของ JKN ได้หรือไม่