‘พลังงานไฟฟ้า และน้ำ’ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งยวดในภาคเกษตร ท่ามกลางความท้าทาย “โลกต้องการอาหาร เกษตรกรต้องผลิตอาหาร การใช้แรงคนอาจไม่ทันกับความต้องการ” และที่สำคัญ ยังต้องต่อสู้วิกฤตโลกร้อน ซึ่งไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ ที่แน่ๆ ภัยแล้งปีนี้คาดการณ์กันว่า จะหนักหน่วงกว่าอดีตที่ผ่านมา
Krungthai COMPASS แนะนำให้ภาคเกษตรสร้างร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญใน Ecosystem เพื่อช่วยในการติดตั้งระบบโซลาเซลล์ เพราะจะเหมาะสมทั้งกับพืชหรือปศุสัตว์แต่ละชนิด และภาครัฐควรสนับสนุนแหล่งเงินทุนแก่เกษตรกร เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้มากขึ้น แต่เรื่องนี้ก็ยังเจอความท้าทายจากการใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น ในบางช่วงเวลาพืชที่ปลูกใต้แผงโซลาเซลล์อาจได้รับแสงไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลลบต่อผลผลิตต่อไร่ต่อไปอีก
ภาคการผลิตสินค้าเกษตร ปรับตัวอย่างไร?
กล่าวได้ว่า ขณะนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG มากขึ้น แต่กิจกรรมในภาคเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรกลับยังไม่ได้ปรับตัวมากนัก นอกจากการปลดปล่อยมลพิษจากกิจกรรมในภาคเกษตรแล้ว กิจกรรมในภาคเกษตรยังต้องพึ่งพาการใช้พลังงาน เช่น การใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำ รวมถึงการใช้ไฟฟ้าในการให้แสงสว่างสำหรับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่าแล้วผู้ประกอบการในภาคเกษตรในกลุ่มต้นน้ำควรจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งเรามองว่าหนึ่งในแนวทางการปรับตัวที่น่าสนใจ คือ การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานดั้งเดิมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปสู่พลังงานสะอาด
กรุงไทย คอมพาส จึงชวนทำความรู้จักกับ Agrivoltaic ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น รวมทั้งตอบคำถามว่าหากภาคเกษตรไทยมีการปรับใช้เทคโนโลยีนี้ จะสามารถสร้างความคุ้มค่าหรือได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน?
ทำความรู้จัก Agrivoltaic
Agrivoltaic คือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ภายใต้แนวคิดการใช้พื้นที่ของภาคเกษตร เช่น การทำกสิกรรม ปศุสัตว์ ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาเซลล์ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ในขณะที่ยังคงใช้พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตร นอกจากนี้ แผงโซลาเซลล์ยังช่วยให้ร่มเงาแก่พืชผล ซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ และลดการระเหยของน้ำ ซึ่งนำไปสู่ความต้องการน้ำในการเพาะปลูกที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ร้อนและแห้งแล้ง นอกจากนี้ ระบบไฟฟ้าเพื่อการเกษตรยังช่วยสร้างพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานดั้งเดิม เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
Agrivoltaic มีรูปแบบที่หลากหลาย โดยรูปแบบที่เป็นที่นิยมจะเป็นการติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อให้มีความสูงเพียงพอที่เกษตรกรสามารถปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ใต้แผง รวมถึงเครื่องจักรกลเกษตรสามารถเข้าถึงเพื่อบำรุงรักษาและเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์การวางแผงโซลาเซลล์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟาร์มโรงเรือนกระจกที่มีข้อจำกัดในการควบคุมสภาพอากาศ รวมถึงการปกป้องพื้นที่เลี้ยงสัตว์ หรือพื้นที่เพาะปลูกโดยใช้แผงโซลาเซลล์แนวตั้งกั้นเป็นรั้ว ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้แมลงต่างๆ เช่น ผีเสื้อและผึ้ง ให้เข้ามาผสมเกสรในสวน เช่น สวนดอกไม้ สวนผลไม้ได้อีกด้วย
ตลาด Agrivoltaic โตแค่ไหนแล้ว?
คาดว่าในปี 2573 มูลค่าตลาด Agrivoltaic จะเติบโตไปอยู่ที่ 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 312.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 124.9 พันล้านบาท (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ปีละ 12.1% (CAGR% 2565-2573) จากการเติบโตของเทรนด์ ESG ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังได้แรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การเข้าถึงของเกษตรกรมีแนวโน้มถูกลง ทำให้มีการใช้งานแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
ส่วนมูลค่าตลาด Agrivoltaic ของไทยคาดว่าจะเติบโตตามแนวโน้มตลาดโลก โดยปัจจุบันแม้จะยังไม่มีหน่วยงานใดประเมินมูลค่าตลาดชัดเจน แต่คาดว่าหากภาครัฐมีการผลักดันให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวแบบเกษตรแปลงใหญ่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ก่อน จะทำให้มูลค่าตลาดโซลาเซลล์สำหรับแปลงนาข้าวในไทยมีโอกาสสูงถึงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท
ทำไมภาคเกษตรต้องใช้ Agrivoltaic
1. Agrivoltaic สอดรับกับเทรนด์ ESG
Agrivoltaic ตอบโจทย์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทดแทนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลรูปแบบเดิมที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (Non-renewable resource) อีกทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยจากงานวิจัยของ Robert Handler และ Joshua M. Pearce ชี้ว่า การประยุกต์ใช้ Agrivoltaic ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 98.5% และพลังงานฟอสซิลลดลง 82.9% เมื่อเทียบกับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วไป
2. ต้นทุนการเข้าถึงของ Agrivoltaic ที่ถูกลง
ต้นทุนการติดตั้งโซลาเซลล์ที่มีแนวโน้มลดลง ช่วยหนุนให้ภาคเกษตรสามารถเข้าถึงได้เทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจาก Statista ที่ระบุว่า ค่าติดตั้งแผงโซลาเซลล์สำหรับ Agrivoltaic มีแนวโน้มลดลงย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากค่าติดตั้งแผงโซลาเซลล์สำหรับ Agrivoltaic ในปี 2553 สูงถึง 4,621 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ และคาดว่าในปี 2573 และ 2593 ค่าติดตั้งแผงโซลาเซลล์สำหรับ Agrivoltaic จะมาอยู่ที่ 587 และ 323 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ หรือลดลงถึง 87.3% และ 93.0% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2553 ส่งผลให้เกษตรกรมีแนวโน้มจะนำมาประยุกต์ใช้เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น อ้างอิงข้อมูลจาก The Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries (MAFF) ของญี่ปุ่น พบว่าในปี 2564 มีจำนวนเกษตรกรที่ใช้ Agrivoltaic ราว 3.5 พันราย หรือเพิ่มขึ้นจากกว่า 30% จากปีก่อน
3. Agrivoltaic ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและพื้นที่เกษตร
Agrivoltaic ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพื้นที่เกษตรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น โดย Metsolar ได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบระหว่าง กรณีที่ 1) การปลูกข้าวสาลีในพื้นที่ 1 เฮกตาร์ แยกกับการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ในพื้นที่ 1 เฮกตาร์ จะสามารถผลิตข้าวสาลีและพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ 3.52 ตันต่อ 1 เฮกตาร์ และ 1.70 MW/วันต่อ 1 เฮกตาร์ ตามลำดับ และกรณีที่ 2) การปลูกข้าวสาลีร่วมกับการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ในพื้นที่รวม 2 เฮกตาร์
พบว่า ในกรณีที่ 2 แม้ว่าผลผลิตข้าวสาลีต่อไร่และพลังงานไฟฟ้าจะลดลงเหลือ 2.82 ตันต่อ 1 เฮกตาร์ และ 1.36 MW/วันต่อ 1 เฮกตาร์ ตามลำดับ เพราะการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างการเพาะปลูกและติดตั้งโซลาเซลล์ทำให้มีการสูญเสียผลิตภาพบางส่วน แต่เนื่องจากพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวสาลีและติดตั้งแผงโซลาเซลล์ที่มากขึ้น ทำให้โดยรวมแล้วมีผลผลิตข้าวสาลีและพลังงานไฟฟ้าเป็น 5.64 ตัน และ 2.72 MW/วัน ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นมาราว 60% เมื่อเทียบกับกรณีที่ 1
นอกจากนี้ พืชบางชนิดที่ปลูกภายใต้ร่มเงาของแผงโซลาเซลล์ ยังได้ประโยชน์เพิ่มเติมทำให้พืชไม่ได้รับแสงแดดที่ร้อนเกินไปจึงช่วยลดการสูญเสียน้ำของพืช และลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกลดลง โดยจากงานวจัยของ University of Arizona ชี้ว่า พริกจาลาปิโนแม้จะมีผลผลิตใกล้เคียงกันทั้งการปลูกในระบบ Agrivoltaic และการปลูกแบบทั่วไป แต่ก็ทำให้การสูญเสียน้ำจากการระเหยน้ำของพืชลดลงถึง 65%
ภาคเกษตรไทยจะได้ประโยชน์แค่ไหน?
ในส่วนนี้ Krungthai COMPASS ได้ประเมินประโยชน์จากการปรับใช้ Agrivoltaic ใน 2 กิจกรรมทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่สำคัญของไทย ได้แก่ การเพาะปลูกข้าวและฟาร์มไก่เนื้อ ซึ่งผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะได้รับผลบวกจากการลดต้นทุนในการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
การเพาะปลูกข้าว
การติดตั้งโซลาเซลล์ในกระบวนการเพาะปลูกข้าวจะทำได้ผลประโยชน์สุทธิราว 20,500 บาทต่อปี และมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ราว 2-3 ปี โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า เกษตรไทยที่เพาะปลูกข้าวมีจำนวนการครอบครองพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉลี่ยอยู่ราว 14 ไร่ต่อราย ซึ่งงานศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ต้นทุนและผลตอบแทนในการเพาะปลูกข้าว[3] ระบุว่า ในกระบวนการเพาะปลูกข้าวมีต้นทุนการผลิตต่อไร่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,880 บาทต่อไร่ต่อรอบการเพาะปลูก 1 ครั้ง โดยมีต้นทุนพลังงานที่เกิดจากการใช้ปั๊มน้ำเพื่อสูบน้ำเข้านาข้าว อยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ คิดเป็น 15.4% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวจำนวน 8 ไร่ จะมีการใช้ปั๊มน้ำ 600 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง ดังนั้น เมื่อนำมาวิเคราะห์เพื่อหาเงินลงทุนในการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ จะต้องติดตั้งแผงโซลาเซลล์ 390 วัตต์ จำนวน 2 แผงต่อเครื่อง และเมื่อนำมาคิดกับพื้นที่ครอบครองโดย เฉลี่ยของเกษตรกรไทย ทำให้ต้องติดตั้งแผงโซลาเซลล์
ทั้งหมดจำนวน 4 แผง เนื่องจากต้องมีการใช้ปั๊มน้ำจำนวน 2 เครื่องต่อพื้นที่ 14 ไร่ โดยราคาจริงเฉลี่ยในตลาดของแผงโซลาเซลล์ 390 วัตต์ อยู่ที่ราว 10,000 บาทต่อแผง ทำให้มีต้นทุนในการติดตั้งแผงโซลาเซลล์อยู่ที่ 40,000 บาท เมื่อรวมกับค่าติดตั้งและค่าอุปกรณ์อื่นๆอีกราว 10,000 บาท รวมถึงค่าขออนุญาตจากภาครัฐอีกราว 10,000 บาท ทำให้มีต้นทุนรวมในการติดตั้งอยู่ที่ 60,000 บาท ต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าวจำนวน 14 ไร่ ทั้งนี้เมื่อมีการติดตั้งโซลาเซลล์เพื่อใช้กับปั๊มน้ำแล้ว คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานได้ทั้งหมด[4] โดยในการเพาะปลูกข้าวเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกปีละ 2 รอบ ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนพลังงานได้ราว 21,000 บาทต่อปี เมื่อหักค่าบำรุงรักษาที่ราว 1% ของเงินลงทุน หรือเท่ากับ 500 บาทต่อปี จะทำให้ผลประโยชน์สุทธิของการประยุกต์ใช้โซลาเซลล์อยู่ที่ 20,500 บาทต่อปี ซึ่งเมื่อพิจารณาเงินลงทุนกับผลประโยชน์สุทธิต่อปี จะมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ราว 2-3 ปี
ฟาร์มไก่เนื้อ
การติดตั้งโซลาเซลล์ในกระบวนการเลี้ยงไก่เนื้อจะได้ผลประโยชน์สุทธิราว 670,000 บาทต่อปี และมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ราว 4-5 ปี โดยจากข้อมูลของกรมการค้าภายในและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ในกระบวนการเลี้ยงไก่เนื้อมีต้นทุนการเลี้ยงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ น้ำหนักไก่เนื้อ 1 ตัว อยู่ที่ 2.5 กิโลกรัม และมีรอบการเลี้ยงประมาณ 5 รอบต่อปี
อ้างอิงสถาบันอาหาร หากมีการเลี้ยงไก่เนื้อจำนวน 10,000 ตัว จะทำให้มีต้นทุนการเลี้ยงทั้งหมด 4,375,000 บาทต่อปี โดยมีต้นทุนพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 1,750,000 บาท คิดเป็นสูงถึง 40% ของต้นทุนการเลี้ยงทั้งหมด เนื่องจากการเลี้ยงไก่สำหรับระบบโรงเรือนแบบปิดปรับอุณหภูมิ (Evaporative Cooling System : EVAP) เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน ซึ่งจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อนำมาวิเคราะห์กับเงินลงทุนติดตั้งโซลาเซลล์ โดยฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อใช้แผงโซลาเซลล์ขนาด 100 กิโลวัตต์ราคาเฉลี่ยประมาณ 30 บาท/วัตต์
และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้ต้นทุนในการลงทุนทั้งหมดในการติดตั้งโซลาเซลล์ของเกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อ จะอยู่ที่ราว 3,010,000 บาท โดยเมื่อมีการติดตั้งโซลาเซลล์แล้ว จะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 40% ของต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด5 หรืออยู่ที่ราว 700,000 บาทต่อปี และเมื่อหักค่าบำรุงรักษาที่คิดเป็น 1% ของเงินลงทุน หรือเท่ากับ 30,000 บาทต่อปี จะทำให้ผลประโยชน์สุทธิของการประยุกต์ใช้โซลาเซลล์อยู่ที่ 670,000 บาทต่อปี ซึ่งเมื่อพิจารณาเงินลงทุนกับผลประโยชน์สุทธิต่อปี จะมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ราว 4-5 ปี
ทั้งนี้ผลประโยชน์สุทธิของการประยุกต์ใช้โซลาเซลล์ในภาคเกษตรของไทยระยะแรกจะเป็นการลดต้นทุนด้านพลังงานของเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งหากในอนาคตต้นทุนเทคโนโลยีถูกลงอีก จนเกษตรมีการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างแพร่หลายมากขึ้น นอกจากจะช่วยลดค่าพลังงานได้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้อีกทางหนึ่ง
Implication:
ผู้ประกอบการกสิกรรมและปศุสัตว์ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญใน Ecosystem เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจประกอบแผงโซลาเซลล์ (PV module assembly) ธุรกิจติดตั้งระบบโซลาเซลล์ (PV installer) เพื่อช่วยในการออกแบบและติดตั้งระบบที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พื้นที่และการผลิตพลังงานไฟฟ้า
นอกจากนี้ ในอนาคตยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA ในการเข้ามาขยายฐานลูกค้าในกลุ่มเกษตรกรได้มากขึ้น ขณะที่เกษตรกรก็จะได้ประโยชน์จากการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA จะเป็นผู้ลงทุนและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงระบบโซลาเซลล์ตลอดอายุการใช้งาน
โดยในต่างประเทศมีผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA เข้ามาทำตลาดนี้แล้ว เช่น บริษัท Engie SA ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า PPA ของประเทศฝรั่งเศส ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 5MW ซึ่งเชื่อมโยงกับโครงข่ายไฟฟ้าผ่านที่ดินของชาวสวนแอปเปิ้ล ขนาดพื้นที่ 31 เอเคอร์
ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเกษตรกร โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง มีการสนับสนุนการติดตั้งโซลาเซลล์ในภาคครัวเรือนอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการขยายการสนับสนุน เช่น การให้แหล่งเงินทุนในการติดตั้งโซลาเซลล์แก่เกษตรกร ก็จะช่วยให้ภาคเกษตรเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้มากขึ้น โดยในต่างประเทศ เช่น เวียดนามและอินโดนีเซียก็มีการให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยี Agrivoltaic คิดเป็น 10% และ 20% ของการลงทุนเทคโนโลยี Agrivoltaic ทั้งหมด
ขณะที่ ยังมีความท้าทายจากการใช้เทคโนโลยี Agrivoltaic เช่น แผงโซลาเซลล์อาจทำให้เกิดการบังแสงแดดของพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้พืชที่ปลูกใต้แผงโซลาเซลล์ได้รับแสงน้อยลง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตร
อย่างไรก็ตาม อาจมีการประยุกต์กระบวนการติดตั้งให้รบกวนกระบวนการเพาะปลูกลดน้อยลง เช่น เกษตรกรสามารถปรับองศาการตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อให้พืชได้รับแสงระหว่างวันมากขึ้น หรือการใช้เทคโนโลยี IoT ในการประเมินแสงแดดและสภาพอากาศเพื่อปรับตำแหน่งการวางแผงโซลาเซลล์ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ช่วยให้การปลูกพืชใต้แผงโซลาเซลล์ได้รับแสงที่เพียงพอสำหรับการเติบโตได้อย่างแม่นยำ