วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2568 สถานการณ์แรงงานไทยและเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายด้านที่ต้องจับตาและเร่งแก้ไขไปในคราวเดียว เพราะในแง่ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ก็ต้องยอมรับว่า ยังอยู่ในสภาวะ ‘ต้องระมัดระวัง’ โดย ‘การส่งออก’ ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ตลาดโลกยังไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สหรัฐ-จีน, ยูเครน-รัสเซีย และประเทศไทยเอง ก็จำเป็นต้องเร่งกระจายความหลากหลาย (Diversify) ในตลาดส่งออก รวมถึงการเพิ่มมูลค่า (Value-added)
ด้าน ภาคบริการฟื้นตัว แต่แรงงานไม่ฟื้นเท่าธุรกิจ โดยภาคท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวแรง แต่แรงงานบริการยังได้ค่าตอบแทนต่ำ ต้องเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานบริการให้ดีขึ้น นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญคือ ภาระหนี้ครัวเรือน-หนี้ภาคประชาชนยังสูง โดยหนี้ครัวเรือนมากกว่า 90% ของ GDP สะท้อนปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งหนี้ที่สูงกระทบการใช้จ่าย บั่นทอนความสามารถในการออม
วันแรงงาน 2568 แรงงานไทยยังต้องเผชิญอะไรบ้าง?
สำหรับวันนี้ (1 พฤษภาคม 2568) ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติของประเทศไทยนั้น ภาพสถานการณ์แรงงานไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมสูงวัย พร้อมกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกและค่าครองชีพที่กดดัน ดังนั้น อนาคตประเทศไทยที่ต้องพัฒนาด้านแรงงาน จึงประกอบด้วย การปฏิรูปค่าแรงและสวัสดิการ, เร่ง Reskill/Upskill, การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และเตรียมนโยบายรองรับผลกระทบจากเทคโนโลยี
สำหรับวันนี้ (1 พฤษภาคม 2568) ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติของประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมหลักที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการเดินขบวนเฉลิมฉลองจากกลุ่มแรงงานกว่า 24 ขบวน การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน และการแสดงดนตรีสดจากศิลปินชื่อดัง
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานคือการยื่นข้อเรียกร้องแรงงาน 9 ข้อต่อรัฐบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ปรับปรุงสิทธิและสวัสดิการให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน
9 ข้อเรียกร้องแรงงาน ปี 2568
แน่นอนว่า เมื่อถึงวันแรงงานแห่งชาติ (1 พฤษภาคม) ของทุกปี มักจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงาน ปี 2568 นี้ก็เช่นกัน ที่แรงงานทั่วประเทศ ขอเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ผ่านข้อเสนอ 9 ข้อที่สะท้อนปัญหาเรื้อรังในตลาดแรงงาน ประกอบด้วย
1. ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
- ฉบับที่ 87: ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว (ค.ศ. 1948)
- ฉบับที่ 98: ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง (ค.ศ. 1949)
- เพื่อส่งเสริมสิทธิแรงงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรองอย่างเสรี
2. จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงการเลิกจ้าง
- เป็นหลักประกันให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะกรณีนายจ้างไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย
3. ยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินก้อนสุดท้าย
- ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้จากเงินก้อนสุดท้ายที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเมื่อพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างในทุกกรณี ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท
4. ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมระบบประกันสังคม
- เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างเป็นธรรม ผ่านระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขและการจ่ายเงินร่วม (co-payment)
5. ปรับปรุงระบบประกันสังคม
- ปรับฐานการรับเงินบำนาญให้มีรายรับไม่น้อยกว่า 5,000 บาท
- กรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับเงินบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป
- กรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 การคิดคำนวณเงินบำนาญขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33
- เมื่อผู้ประกันตนรับบำนาญแล้ว ให้คงสิทธิรักษาพยาบาลตลอดชีวิต
- กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลโรคร้ายแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งทุกชนิด ให้ครอบคลุมถึงการใช้ยารักษาพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ
- ขยายอายุผู้เริ่มเข้าเป็นผู้ประกันตนจากเดิม 15-60 ปี เป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ
6. คุ้มครองแรงงานเหมาค่าแรง
- ให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด
7. ยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลความปลอดภัยของแรงงาน
8. แก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับค่าล่วงเวลา
- แก้ไขกฎกระทรวงที่ตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือนในการได้รับค่าล่วงเวลา 1.5 เท่า เช่นเดียวกับพนักงานรายวัน
9. แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้อง
- ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามผลการดำเนินการตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2568
จับตากันต่อไปว่า 9 ข้อเรียกร้องนี้ แนวโน้มที่จะได้รับการตอบสนองมีอะไรบ้าง? เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินก้อนสุดท้าย, การปรับปรุงระบบประกันสังคม (บางส่วน) เช่น ขยายสิทธิรักษาพยาบาล, การเพิ่มอายุผู้สมัครประกันตน, การขยายยารักษาโรคร้าย ที่ขณะนี้กระทรวงแรงงาน และ สปส.กำลังพิจารณาอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีในส่วนของ แรงงานเหมาค่าแรง และการตั้งคณะทำงานติดตามผล (ข้อเรียกร้อง) ทั้งนี้ทั้งนั้น หากทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นโอกาสขยับได้จริง ก็ถือว่า สิทธิและสวัสดิภาพของแรงงานไทย ก็จะดีขึ้นได้ระดับหนึ่ง!