ลำไย คือหนึ่งในผลไม้ที่เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือนิยมปลูกมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะ จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ที่มีการผลิตทั้งลำไยในฤดูและลำไยนอกฤดู ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกษตร ในอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มเก็บผลผลิตลำไยนอกฤดูออกจำหน่าย แต่ประสบปัญหาราคารับซื้อลำไยนอกฤดูตกต่ำ จนบางสวนต้องหยุดเก็บผลผลิต เพราะไม่คุ้มทุนในการจ้างแรงงาน
ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจราคาผลผลิตลำไยนอกฤดูของอำเภอดอยเต่า พบว่า ราคาลำซื้อลำไย ลูกใหญ่เกรด AA ตกเหลือกิโลกรัมละ 19 บาท จากปกติเคยอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ถึง 44 บาท

ผ่องพันธ์ สุปินะ ชาวสวนลำไย อำเภอดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปีนี้ราคาลำไยนอกฤดู น่าใจหาย เพราะราคารับซื้อนั้นตกต่ำเป็นอย่างมาก โดยราคา รับซื้อ ขนาด AA กิโลกรัมละ 19 บาท A กิโลกรัมละ 10 บาท B กิโลกรัมละ 6.5 บาท และ C กิโลกรัมละ 3 บาท เท่านั้น โดยที่สวนนั้นได้ทำการเก็บผลผลิต มาแล้ว 4 วัน ก่อนจะหยุดเก็บเพราะไม่คุ้มทุนในการจ้างแรงงาน

“การจ้างแรงงานเก็บผลผลิต นั้นจะต้องมีการจ้างแรงงานผู้ชาย ค่าจ้างวันละ 400 บาท เพราะจะต้องมีการปีนขึ้นไปเก็บ ขณะเดียวกันแรงงานผู้หญิงจะเป็นการคัดลำไยลงตะกร้า ค่าจ้างวันละ 300 บาท หากขายได้ราคานี้ จึงไม่คุ้มทุนที่ลงแรงไป”
“ปีที่ผ่านมานั้นมียอดขาย กว่า 500,000 บาท แต่ปีนี้หลังจากเก็บได้ 4 วัน มียอดขายเพียง 30,000 บาทเท่านั้น หลังจากนี้ต้องปรับมารูดขายเป็นลำไยร่วง แม้ราคาจะถูกกว่า แต่ไม่มีต้นทุนในการจ้างแรงงาน”

นิภา พิทักษ์หทัยวงศ์ ชาวสวนลำไยอำเภอดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในทุกๆปีที่ผ่านมา ลำไยนอกฤดูจะมีราคารับซื้อ ขนาด AA ประมาณ กิโลกรัมละ 30-44 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคา ที่เกษตรกรขายแล้วมีกำไร แต่ปีนี้ ถือว่าราคาลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ สภาพอากาศที่หนาวจัดและหนาวนาน ส่งผลให้ผลผลิตลำไยในพื้นที่อำเภอดอยเต่าหลายสวน ไม่โต จึงขายไม่ได้ราคา
“ปีนี้แต่ละสวนจะไม่มีขนาด AA เลย เฉลี่ยแล้วจะมีขนาด B มากที่สุด ทำให้ขายไม่ได้ราคา จึงอยากให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลเรื่องของราคาลำไยตกต่ำในพื้นที่ เพราะเกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งการผลิตลำไยนอกฤดูนั้น ใช้ต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตลำไยในฤดูเป็นเท่าตัว แต่กลับขายได้ในราคาที่ถูกกว่า”
ขณะที่ ผศ.พาวิน มโนชัย รองอธิการบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตลำไย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ตามปกติผลผลิตลำไยจากประเทศไทย จะส่งไปที่ประเทศจีนเป็นหลัก แต่ปีนี้ประเทศจีนหลายพื้นที่ เริ่มหันมาบริโภคผลไม้เชอรี่จากประเทศชิลี แทนลำไยจากประเทศไทย ซึ่งก็จะเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ราคารับซื้อไม่สูงมากนัก โดยเชอรี่นั้น จีนนำเข้าไปพร้อมกับลำไยนอกฤดูจากประเทศไทย แต่มีราคาถูกกว่า คนจึงนิยมหันไปบริโภคเชอรี่แทน

“อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตไม่โต เพราะอากาศหนาวจัด ซึ่งส่งผลกับลำไยโดยตรง หากมีอุณหภูมิที่ต่ำ ก็จะทำให้ผลผลิตไม่โตได้ เมื่อเทียบกับช่วงที่มีการผลิตลำไยในฤดู ที่จะคาบเกี่ยวระหว่างฤดูร้อนและฤดูฝน ซึ่งจะมีขนาดลูกลำไยที่โตกว่าอย่างเห็นได้ชัด”

“และอีกปัญหาหนึ่ง คือเกษตรกรชาวสวนลำไยในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ปล่อยให้ลำไยติดลูกจำนวนมากในช่วงการผลิต ทำให้มีการแย่งอาหารกันส่งผลให้ลูกลำไยไม่โตได้ขนาดเท่าที่ควร เพราะหากจะทำลำไยให้มีคุณภาพลูกใหญ่ ก็จะต้องเพิ่มต้นทุนในการผลิตทั้งคนดูแล และคนตัดแต่งช่อลำใย จึงทำให้คุณภาพโดยรวมของลำไยทางภาคเหนือไม่ได้ราคา ถ้าเทียบกับเกษตรกรทางจังหวัดจันทบุรี”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตลำไย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุอีกว่า การแก้ปัญหา เกษตรกรนั้นจะต้องหันมาทำลำไยที่มีคุณภาพตามหลักวิชาการ โดยการตัดแต่งกิ่ง เพื่อลดต้นทุนในการจ้างแรงงานเก็บผลผลิต ทำสาวต้นลำใยและตกแต่งช่อให้มีลำไยไม่ออกมากนัก ซึ่งจะทำให้ลำไยมีลูกขนาดใหญ่ตามที่ตลาดต้องการ และจะขายได้ราคาที่สูงกว่า
ขนาดเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า ลำไยนอกฤดูการผลิตปี 2569 จะมีราคาสูง เพราะปีนี้จะมีผลผลิตลำไยในฤดูจำนวนมาก และไม่เหลือต้นในการผลิตลำไยนอกฤดู ในปี 2569 เชื่อว่าจะทำให้ลำไยนอกฤดูมีราคาสูง แต่จะมีผลผลิตน้อย ซึ่งหากเกษตรกรชาวสวนไหนบริหารจัดการ และแบ่งโซนทำลำไยทั้งในฤดูและนอก ก็จะมีโอกาสมากกว่า

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า สถานการณ์ลำไยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2567 มีพื้นที่ปลูกลำไยกว่า 448,000 ไร่ เป็นลำไยในฤดูกว่า 305,000 ไร่ และลำไยนอกฤดูกว่า 142,000 ไร่
สำหรับผลผลิตลำไยในฤดู จะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม มีผลผลิตลำไยในฤดูประมาณ 248,000 ตัน ส่วนลำไยนอกฤดู จะมีผลผลิตกว่า 190,000 ตัน โดยตลาดหลักยังคงเป็นการส่งออกไปยังประเทศจีน และขายสดภายในประเทศบางส่วนเท่านั้น