ตลาดนัด เปลี่ยน! ไปตลาดทุกวันนี้ เพื่ออะไรบ้าง?

1 กันยายน 2566 - 07:31

Market-change-creativity-Chatuchak-JODD-FAIRS-Ton-Tann-SPACEBAR-Thumbnail
  • ตลาดนัด โอกาสของนักพัฒนาที่ดิน มอง รูปแบบบริหารตลาดแบบคนรุ่นใหม่ ไม่เน้นแค่อาหารกิน แต่ยังผนวกรวม อาหารตา อาหารใจ

  • เน้นสร้างจุดขายใหม่ เป็นทั้งจุดนัดพบ-แฮงเอาต์-แลนด์มาร์ก เพื่อแม่บ้าน ยันขาโจ๋ และนักท่องเที่ยว

ต้องยอมรับว่า ‘ตลาดนัด’ มีจุดเปลี่ยนหลายอย่าง ตั้งแต่โควิด 19 มาเยือน ตลาดถูกปิด การทำมาค้าขายที่ต้องเห็นหน้า เห็นสินค้า กลายเป็น ‘ไม่ต้องก็ได้’ และออนไลน์ก็มีอิทธิพลต่อการซื้อของผู้บริโภค ดังนั้น ยุคหลังโควิด หากตลาดนัดต้องการการกลับมา ย่อมมีการบ้านต้องทำมาก และเราก็เห็นพัฒนาการ มากขึ้นด้วย 

ตลาดนัดเปลี่ยนไป ไม่แค่ซื้อกับข้าว แล้วกลับไปนอน  

ยุคหลังโควิด หากกล่าวถึงแนวทางทำธุรกิจเพื่อให้ได้เงิน เรื่องของ ‘การท่องเที่ยว’ จะถูกพูดถึงบ่อย ไฉนเลย ตลาดนัดจะไม่ทำให้เกี่ยวข้องโยงใยถึงภาคท่องเที่ยว นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ตลาดนัด ‘เปลี่ยนไป’ จะไม่ใช่แค่ ให้แม่บ้าน ลูกหลาน มาซื้อกับข้าว ของกินของใช้ กินอิ่มแล้วก็นอนหลับพักผ่อนกันไป แต่ตลาดนัดจะผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ ให้เสมือนเป็นจุดพักผ่อน เรียกได้ว่า ทำทั้ง ตลาดนัดกลางวันและกลางคืน กันเลยทีเดียว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5cDIV1JrDrAO1DxCsawxOp/260544e795e6a69839e107cc6c7dccf9/Market-change-creativity-Chatuchak-JODD-FAIRS-Ton-Tann-SPACEBAR-Photo01
โดยถ้าถามหาตลาดนัดยอดนิยมของคนกรุง ในเจนเนอเรชันแรกๆ คงหนีไม่พ้น ‘ตลาดนัดสวนจตุจักร’ ถึงแม้จะเปิดเพียงแค่วันเสาร์-อาทิตย์ แต่ที่นี่ก็ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งรวมร้านค้า และสินค้าหลากหลาย อยากหาสิ่งใด ถ้ามีแรงเดินก็จะได้ของครบจบในที่เดียว แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยแล้วไปตลาดนัดสวนจตุจักร ความเป็นไทยในจุดนี้ก็จัดเต็มได้เช่นกัน โดยที่สไตล์ของสินค้า ก็แตกต่างหลากหลาย นอกจากนี้ ยังเป็นตลาดนัดเฉพาะกลุ่ม เช่น คนรักไม้หนาม (แคคตัส) ก็สามารถไปเยี่ยมชมและหาซื้อได้ในทุกพุธและพฤหัสบดี หรือถ้าเป็นวันอังคาร ก็เฉพาะช่วงกลางคืน เป็นต้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2ob4iN2Zl3Hbb7wj0W6OVI/311285e6d85c8a3e729498992aac5f4f/Market-change-creativity-Chatuchak-JODD-FAIRS-Ton-Tann-SPACEBAR-Photo02
กล่าวได้ว่า ‘ตลาดนัดสวนจตุจักร’ ที่ดึงดูดนักช้อปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนภายในตลาดได้ ไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาทต่อเดือน เม็ดเงินมหาศาลเช่นนี้ ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ให้นักปั้นตลาดของไทย รุกสร้างตลาดเพิ่ม พร้อมแทรกซึมด้วยความคิดสร้างสรรค์ เห็นได้จากยุคหลังโควิดมานี้ แม้หลายตลาดจะพ่ายแพ้ พับโปรเจ็กต์ไปก็หลายเจ้า แต่ผู้ไม่ยอมแพ้และลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยน ก็เก็บเงินเข้ากระเป๋าคืนทุนแล้วไม่น้อย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1YW75oiIYSfwwCmz8Oja7j/21fcfa75eb0351567ba7f278e5197234/Market-change-creativity-Chatuchak-JODD-FAIRS-Ton-Tann-SPACEBAR-Photo03

เจ้าของจ๊อดแฟร์ รุกปั้นตลาดด้วยความคิดสร้างสรรค์ 

จ๊อดแฟร์ เป็น 1 ในตลาดที่เรากำลังกล่าวถึง ซึ่งเจ้าของ ‘ไพโรจน์ ร้อยแก้ว’ นักปั้นตลาดผู้คร่ำหวอดในวงการตั้งแต่การเป็นพ่อค้าขายของเก่า จนมาสร้างตำนานผุดตลาดนัดชื่อดังมาแล้วหลายแห่ง ทั้งตลาดรถไฟ ‘รัชดา และ ตลาดรถไฟ ศรีนครินทร์’ ก่อนย้ายตลาดรถไฟรัชดา มาย่านพระราม 9 ให้ชื่อใหม่ว่า ‘จ๊อดแฟร์’ เป็นตลาดนัดกลางคืน โดยทำการปรับภาพลักษณ์ รังสรรค์ตลาดใหม่ให้คล้ายงานแฟร์ โด่งดังเป็นพลุแตก อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่ง ‘ไพโรจน์’ บอกว่า อาศัยความกล้าคิดกล้าทำ หลังเล็งเห็นว่า ดี แล้วเดินหน้า 

และหลังจากนั้น ยังผุด ‘จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต’ เพิ่มอีก ความกล้าลงทุนนี้ ‘ไพโรจน์’ ใช้มุมมองส่วนตัว ค้นหาจุดเด่นของสถานที่ และแน่นอน นอกจากโลเกชันสะดวกสบายแล้ว แดนเนรมิตแห่งนี้ยังมีความสวย มีเอกลักษณ์และกลิ่นอายของสวนสนุกในอดีต เมื่อนำมาปรับลุ๊กเป็นตลาด ตกแต่งอีกเล็กน้อยก็พร้อมสำหรับเป็นจุดนัดหมาย จับจ่ายซื้อของ เที่ยวพักผ่อน และแฮงเอาต์หลังเลิกงาน  

จ๊อดแฟร์แต่ละแห่ง มีพื้นที่สำหรับให้ร้านรวงมากกว่า 700 ร้าน ที่ต่างก็ชูจุดเด่นของสินค้า มีทั้งร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ร้านเสื้อผ้า ร้านต้นไม้ รวมไปถึงร้านคาเฟ่น่ารักๆ ซึ่งจุดเด่นที่เป็นเสน่ห์นี้เอง ก็ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รับประทานแล้วอร่อย ประทับใจ อดที่จะรีวิวอาหาร-ขนมไทยที่ จ๊อดแฟร์ ไม่ได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4oyggoEA9ua7FX4LAcKA41/1182d68d48bf1e0ccbc6e3ed37acc503/Market-change-creativity-Chatuchak-JODD-FAIRS-Ton-Tann-SPACEBAR-Photo04
ภาพที่เห็นนี้ อยู่ที่ร้าน ‘ขนมครกคุณย่า’ ขนมครกเจนเนอเรชันที่ 3 หรือรุ่นหลานมาต่อยอดใส่ท็อปปิ้ง เพิ่มรสชาติความอร่อย ด้วยหน้าข้าวเหนียวมะม่วง แต่ไม่ลืมความประณีตในกรรมวิธีการผลิตและค้นหาวัตถุดิบที่ดีมาใช้ กระทั่งได้เป็นอีก 1 สินค้าอะเมซิ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่หลายเจ้าชอบรีวิวขนมครกของที่จ๊อดแฟร์พระราม 9 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2dqkxG7AnzV0C5R8Ub0TOH/9373fd4829707056437bd436ebb25e22/Market-change-creativity-Chatuchak-JODD-FAIRS-Ton-Tann-SPACEBAR-Photo05
ทั้งนี้ ตลาดจ๊อดแฟร์ ยังติดอันดับ 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศนิยมเดินทางมาเที่ยว โดยเป็นผลสำรวจของ Grab Travel Insight ประจำปี 2022 ให้เหตุผลว่า มีสะดวกสบายของการเดินทาง พื้นที่กว้างขวาง เที่ยวเพลินเดินสะดวก ได้สัมผัสเสน่ห์ความเป็นไทยอย่างเต็มเปี่ยม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/LhsDuwyvUcseqx4lISEIG/7db5467d40a1d68fc37a63d38cbdc69f/Market-change-creativity-Chatuchak-JODD-FAIRS-Ton-Tann-SPACEBAR-Photo06

‘ตลาดต้นตาล’ 

ออกไปยังต่างจังหวัดบ้าง ชื่อของ‘ตลาดต้นตาล’ จังหวัดขอนแก่น โด่งดังไม่น้อย ใครเฉียดไปจังหวัดขอนแก่น หากมีโอกาสย่อมไม่พลาดตลาดต้นตาล ที่นี่ยังได้รับยกย่อง ให้เป็นแลนด์มาร์กจังหวัดขอนแก่น เป็นจุดเช็กอินที่ได้รับความนิยม โดยเป็นตลาดนัดกลางคืนสุดชิค ตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองขอนแก่น บนถนนมิตรภาพ และบ้านกอก ซอย 8, 10, 12 คอนเซปต์ของตลาดแห่งนี้ เจ้าของเขาตั้งจุดหมายให้เป็น ‘ตลาดฝันของคนมีไอเดีย’

แต่ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะกว่าจะมาเป็น ‘ตลาดต้นตาล’ ได้ เจ้าของตลาดออกไปเซอร์เวย์ วนดูตลาดทุกประเภทมาแล้ว ตั้งแต่ถนนคนเดิน ตลาดโต้รุ่ง ตลาดนัดเปิดท้ายหลายรูปแบบในแถบเมืองใหญ่ ทั้งที่กรุงเทพฯ หัวหิน เชียงใหม่ โคราช และอื่นๆ นำจุดเด่นของแต่ละที่มารวมไว้ที่นี่ เพื่อให้เป็นที่เที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม บนพื้นที่ 40 ไร่ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6oadeqmqqvfDjTlSmIN8SL/91f783ddc5647bef90d77b2e65ee9153/Market-change-creativity-Chatuchak-JODD-FAIRS-Ton-Tann-SPACEBAR-Photo07
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ รู้หรือไม่ ว่าผู้บริหารตลาดต้นตาล เป็นสาวน้อยตัวเล็กๆ ชื่อ ‘ณิชกานต์ พัฒนพีระเดช’ เป็นทายาทรุ่น 3 รับช่วงมาจากคุณพ่อ ‘พีระพล พัฒนพีระเดช’ เจ้าของ ‘แฟรี่พลาซ่า’ ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่แห่งแรกของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งในรุ่นพ่อถือเป็นทายาทตระกูลรุ่นที่ 2 ผู้ริเริ่มทำตลาดต้นตาล เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว และส่งไม้ต่อให้ ‘ณิชกานต์’ ที่จัดว่า เป็นคนรุ่นใหม่ให้ได้ทำงานต่อ ในฐานะ ‘ผู้จัดการตลาด’

‘ณิชกานต์’ เล่าว่า การทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ ตลอด 10 ปี ก็ปรับเปลี่ยนมาตลอด ตลาดต้นตาลเกิดขึ้น เพราะห้างเก่าแก่ของตระกูล ถูก disrupt ห้างต้องมาพร้อมความสะดวกสบาย แต่เมื่อไม่สามารถปรับสิ่งใดได้มาก จึงต้องปรับเข้าหาตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งการชูจุดเด่นเป็น ‘ตลาดฝันของคนมีไอเดีย’ ก็เพื่อจะสร้างความต่าง เปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้แสดงออกอย่างเต็มที่ และได้เติบโตขึ้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1BolqQg8MMV0xqot86xnBm/b9d17de35afd02ebd6f05f074670af6c/Market-change-creativity-Chatuchak-JODD-FAIRS-Ton-Tann-SPACEBAR-Photo08
จากวันนั้น ถึงวันนี้ กล่าวได้ว่า ตลาดต้นตาล มีการร่วมลงทุนกว่า 400 ล้านบาท กับบริษัท วราสิริ โดยที่ผู้บริหารจากห้างสรรพสินค้าแฟรี่ พลาซ่า จะดูแลในเรื่องการบริหารตลาดต้นตาล ส่วนผู้บริหาร วราสิริ จะบริหารด้านอสังหาริมทรัพย์ การร่วมทุนครั้งนี้ ก็เพื่อให้ตลาดต้นตาลยังคงมีจุดเด่น และจุดต่างจากตลาดทั่วไป มีทั้งหมด 8 โซน ให้สโลแกนที่สอดคล้องจุดเด่นของตลาดว่า “กีฬาดัง ฟังเพลง บรรเลงสเต็ป เสพงานศิลป์ กินอร่อย ปล่อยของ มองสวนสวย รวยความคิด ติดมิตรภาพ” เป็นตลาดที่มีชีวิต เสมอมา 

และนี่ ก็คือ ‘ผล’ ของความ ‘รู้-เข้าใจ’ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สร้างสินค้าให้ตอบโจทย์ โดยที่ ‘ตลาด’ ก็เป็นอีกจุดที่ต้องมีทุกสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ แล้วจากนั้น ตลาดก็จะทำหน้าที่ เคลื่อนเม็ดเงินออกจากกระเป๋า มาสร้างพลังหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ต่อไป พร้อมกับทำให้ ‘ตลาดนัด’ อยู่คู่สังคมไทย แม้จะเปลี่ยนไปบ้างก็ตาม
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5RPbXmbe0p4unYjEmA1xLc/5e186045913c6766ffcb0945e4f2ec71/1693398176686__1_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์