‘เศรษฐา’ สั่งเร่งเหมืองโปแตช ขู่เปิดทางผู้เล่นรายใหม่ หากเจ้าของประทานบัตรเดิมไม่สามารถเปิดหน้าเหมืองได้
เมื่อวานนี้เป็นอีกวาระหนึ่ง ที่บรรดารัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง ออกอาการมึนๆ งงๆ ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หยิบยกประเด็นเรื่องโครงการเหมือแร่โปแตชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาหาหารือ และมีข้อสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปเร่งรัดเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังจากโครงการมีความล่าช้า
ทั้งนี้ นายชัย วัชรงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งที่ประเทศไทยมีแร่โปแตชอยู่มากในพื้นที่ภาคอีสาน ครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดอุดรธานี ชัยภูมิ ไปจนถึงนครราชสีมาตอนบน และเป็นที่ทราบดีว่าแร่โปแตชนั้นถือว่าเป็นในหนึ่งในแร่ที่สำคัญ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยเคมี
ปัจจุบันในโลกมีประเทศที่ผลิตปุ๋ยจากโปแตชเป็นอันดับ 1 คือประเทศแคนาดา ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณแร่โปแตชมากเป็นอันดับสองของโลก และรัฐบาได้ออกประทานบัตรในการทำเหมืองแร่โปแตชไปแล้ว 3 ราย แต่มีปัญหาอะไร จึงทำให้ไม่สามารถที่จะเปิดพื้นที่ทำเหมืองได้
“บางรายได้ประทานบัตรไปแล้วถึง 8 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะขุดแร่ขึ้นมาได้ ส่วนอีก 2 บริษัทที่ได้ประทานบัตรไป ต่างก็ติดปัญหาเรื่องเงินทุนในการดำเนินกิจการ นายกฯจึงมีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดูว่า หากรายเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ลองดูวิธีการที่จะทำให้มีผู้เล่นใหม่เข้ามาพัฒนาและทำประโยชน์ให้ได้”
แนวคิดและคำสั่งการสร้างความมึนงงให้กับบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้องในกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่พอสมควร เพราะต่างทราบดีว่า บรรดาผู้ที่มาขอประทานบัตรสำรวจ และสนใจลงทุนในการทำเหมืองแร่โปแตชทั้ง 3 ราย ต่างก็เป็น ‘กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่’ ที่มีความสนใจลงทุน เพียงแต่ตอนนี้ต่างติดขัดในเรื่องของการระดมทุน เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องใช้เม็ดเงินลงทุนค่อนข้างสูง
“การจะเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่ คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขั้นตอนการขอประทานบัตร ไปจนถึงขอสัมปทานในการทำเหมือง ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทางออกที่น่าจะดีกว่า คือ ภาครัฐอาจจะต้องไปพิจารณาว่าจะช่วยสนับสนุนภาคเอกชนอย่างไร เพื่อให้เขาไปต่อได้มากกว่าที่จะไปหาผู้เล่นใหม่”
ปัจจุบัน จากการสำรวจ พบว่าประเทศไทยมีแหล่งสำรอง แร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี ตามลำดับ
พื้นที่ประเทศไทยที่พบแหล่งแร่โปแตชขนาดใหญ่ มี 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนครประกอบด้วย สกลนคร หนองคาย อุดรธานีและนครพนม และแอ่งโคราชประกอบด้วยขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ
ปัจจุบันมีผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช จำนวน 3 รายซึ่งได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติได้แก่
1. บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 9,707 ไร่ กำลังการผลิต1.1ล้านตันต่อปี
2. บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.อุดรธานี เนื้อที่ 26,446 ไร่ กำลังผลิต 2 ล้านตันต่อปี
3. บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 9,005 ไร่ กำลังผลิต 1 แสนตันต่อปี
อีกทั้งมีผู้ยื่นคำขอขยายอายุอาชญาบัตรพิเศษสำรวจเหมืองแร่โปแตช 1 ราย คือ บริษัท หมิงต๋าโปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทเคยได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ จำนวน12คำขอ เนื้อที่ 116,875ไร่
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดินตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การดำเนินการคำขอประทานบัตรในพื้นที่ ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาอนุญาตประทานบัตรของกระทรวงอุตสาหกรรม และขั้นตอนที่ 3 การอนุญาตให้เปิดการทำเหมือง
จนถึงขณะนี้ มี เพียง 2 รายที่ดูจะมีความพร้อมในการเตรียมเปิดการทำเหมือง ได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ซึ่งได้ปิดประกาศตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 โดยไม่มีการร้องเรียนคัดค้าน และมีการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งไม่มีเสียงคัดค้าน รวมทั้งได้ลงพื้นที่ชี้แจงประชาชนแล้ว
แต่ปัญหาใหญ่คือ ทั้งสองบริษัทยังไม่สามารถระดมทุนเพื่อประกอบกิจการได้ตามแผน ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า รัฐบาลสนับสนุนโครงการดังกล่าว ส่วนอีกราย มีปัญหาว่า แหล่งประทานบัตร มีแหล่งน้ำใต้ดิน ที่ทำให้แร่ที่จะขุดขึ้นมาอาจจะคุณภาพต่ำ มีปริมาณเกลือมากเกินไป
โครงการที่ดูจะมีความเป็นไปได้น่าจะเป็น ของบริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งมีกลุ่มอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ถึง 90% และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอีก 10% ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 สำรวจ 4 แปลง ในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม ในเนื้อที่ราว 26,446 ไร่
ส่วนบริษัท เหมืองแร่โปรแตช อาเซียน มี บริษัททีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ราว 25% ซึ่งที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องการระดมเงินเพิ่มทุน เพื่อมาขยายโครงการ เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาการขาดทุน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี โดย 6 เดือนแรกปีนี้ มีผลขาดทุนสุทธิ180.59 ล้านบาท ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นลดลงเหลือ 117.93 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 300.37 ล้าน