ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ค้านกับหนุน ไตรภาคีจะดุลอย่างไร?

13 พ.ค. 2567 - 10:26

  • ประเด็น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ แม้ฝั่งขอขึ้น และฝั่งขอค้าน จะใช้เหตุผลเดียวกัน คือ ‘เศรษฐกิจไม่ดี’

  • แต่มิติของผลได้-เสียของทั้ง 2 ฝ่าย กลับต่างกันเป็นเส้นขนาน

  • จับตาการให้ทางออกไตรภาคี พรุ่งนี้ (14 พ.ค.67)

ministry-labor-raise-minimum-wage-400-baht-private-employee-SPACEBAR-Hero.jpg

ต้องจับตากันว่า ทางออกของ ‘การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ’ จะมีทางออกอย่างไร? หลังรัฐบาลประกาศข่าวดีสำหรับผู้ใช้แรงงานไทย เตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยจะเป็นการทยอยปรับขึ้นเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ก่อนส่งต่อให้กระทรวงแรงงาน นำประเด็นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ เข้าหารือ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี วันพรุ่งนี้ (14 พฤษภาคม 2567) 

เอกชน ค้านค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ

แน่นอนว่า เรื่องนี้ มีฝั่งได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ทันทีที่เอกชนรับทราบ เร่งชี้แจงทันที ว่า ฟากฝั่งนายจ้าง เจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่างต้องเผชิญปัญหาสารพัดมานานแล้ว ทั้งเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อหดหายผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าออนไลน์ ถูกสินค้าจีนทุ่มตลาดตัดราคา ฯลฯ อีกทั้งนโยบายรัฐ ก็พูดตลอดจะช่วยเอสเอ็มอี ให้พ้นน้ำแต่ค่าแรงที่เพิ่มถึง 400 มากกว่าเดิมที่จุดสูงสุด อยู่ที่ 370 บาท ยิ่งทำให้เอสเอ็มอี แบกต้นทุนเพิ่ม จนต้องจมลงไปอีก 

พูดกันจริงๆ แล้ว ค่าจ้างแรงงานมีฝีมือในปัจจุบัน เริ่มต้นที่ 500 บาท ค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ค่าจ้างที่นำไปจ้างแรงงานไร้ฝีมือ แรงงานไม่มีประสบการณ์ หรือส่วนใหญ่ คือ แรงงานต่างด้าว 5  ล้านคน การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทหนนี้ จึงทำให้ช่องว่างแรงงานไร้ฝีมือกับแรงงานที่มีทักษะแคบลง นายจ้างจึงต้องปรับค่าจ้างแรงงานฝีมือ ให้สูงขึ้นไปอีก ต้นทุนค่าแรงยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ เอกชนก็ทำได้ แค่ส่งหนังสือ ขอให้รัฐบาลยึดถือกติกาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน คือให้คณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้พิจารณา ... ฝั่งเอกชน ละไว้แล้วหนึ่ง

สรส.-สสรท. ยื่นหนุนค่าแรงฯ ขึ้น 400 บ. ลดเหลื่อมล้ำ

ล่าสุด ฟากฝั่งลูกจ้าง โดยกลุ่มเครือข่ายภาคี สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายมานพ เกื้อรัตน์ สมาพันธ์ เลขาธิการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เข้าร่วมสนับสนุนนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ โดยรวมตัวเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้เหตุเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ระบุ ทุกภาคส่วนต่างทราบกันดีว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีปัญหา ต้องพึ่งพาต่างประเทศเป็นด้านหลัก ทั้งเรื่องการค้า การส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว เหตุเพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศขาดรายได้ ไร้อาชีพ ขาดหลักประกันในการดำเนินชีวิตยากจน มีหนี้สินครัวเรือนสูงถึง ร้อยละ 93 ต่อผลิตภัณฑ์มวสรวมในประเทศ (GDP) ขบวนการแรงงานก็พยายามเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้างให้ไปไกลกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ค่าจ้างที่เป็นธรรมตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ คือ คำจ้างขั้นต่ำที่ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ และให้เท่ากันทั้งประเทศ 

ทั้งนี้  นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ให้เหตุผลในการต้องเรียกร้อง ให้มีการปรับค่าแรง 400 ให้เท่ากันทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ว่า เนื่องจากราคาสินค้าในชีวิตประจำวันที่เท่ากันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะชนบท หรือในตัวเมือง เพราะฉะนั้นแล้วค่าแรงก็จำเป็นต้องมีความเท่าเทียมกัน อีกทั้งการจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เฉพาะในบางพื้นที่นั้น จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และทำให้แรงงานจะไปกระจุกอยู่แค่พื้นที่ที่มีการขึ้นค่าแรง เน้นย้ำว่า ขณะนี้ สิ่งที่ประชาชนกลุ่มแรงงานต้องการมากที่สุดคือต้องการค่าจ้าง 400 บาทอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

ministry-labor-raise-minimum-wage-400-baht-private-employee-SPACEBAR-Photo01.jpg

ขึ้นค่าแรง สินค้าขึ้นราคา เตรียมขอพาณิชย์ คุมราคา

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าการขึ้นค่าแรง 400 พร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย แต่จะต้องทำให้ได้ และได้มีการหารือกับทีมแล้วว่า ควรถึงเวลาสักทีที่จะต้องขึ้นค่าแรงให้กับพี่น้องประชาชน โดยเห็นว่าการขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ จะเป็นก้าวแรกสำหรับการที่จะขึ้นค่าแรงต่อๆ ไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องของราคาสินค้า และอยากจะวอนท่านนายกฯ และกระทรวงพานิชย์ให้มีการควบคุมราคาสินค้า ทั้งนี้กระทรวงแรงงานเองก็จะหารือกับฝั่งนายจ้างทุกๆกลุ่ม และร่วมหาทางออกที่ดีที่สุด ที่เป็นผลดีทั้งฝั่งผู้ประกอบการและกลุ่มแรงงาน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์