คลัง แจงเหตุผล เดินหน้าแจกดิจิทัล 1 หมื่น

9 ต.ค. 2566 - 11:33

  • คลังย้ำ เดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น เพราะเป็นความหวังคนไทย ระบุ ‘ร้อยทั้งร้อย’ ยังยากลำบาก

  • แจงที่มา ไม่ใช่การผลิตเงินขึ้นใหม่ เงินทุกบาทเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย

  • เปิดไทม์ไลน์ ได้ข้อสรุปภายในสิ้นตุลาคม 66 นี้

Ministry-of-finance-digital-wallet-10000-baht-SPACEBAR-Hero.jpg

ประเด็นนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่ยังเป็นที่ถกเถียง และมีเสียงค้านถึงความไม่เหมาะสม ทำให้หน่วยงานกระทรวงการคลัง ต้องออกมาแถลง โดยผู้ชี้แจงประกอบด้วย 2 รัฐมนตรีช่วยคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และกฤษฎา จีนะวิจารณะ พร้อมด้วย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง และ ผอ.สศค. 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยรู้สึกดีที่มีการถกเถียงกันในสังคมวงกว้าง ทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เห็นมานาน ในการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ห่างหายเป็น 10 ปี ในรัฐบาลก่อนหน้า พร้อมชี้ กระทรวงการคลัง มุ่งมั่นเร่งสร้างความมั่นใจเดินหน้าเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตต่อเนื่อง และพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ เอกชน หรือประชาชน ตอกย้ำถึงเหตุผลทำไมต้องมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาสะสมมานาน คนไทยประสบความยากลำบาก โดยมีเสียงสะท้อนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า ต้องเดินหน้าโครงการนี้ให้สำเร็จให้ได้ โดยประชาชนร้อยทั้งร้อยในต่างจังหวัด ต่างรอคอยอย่างมีความหวัง 

กล่าวได้ว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยยังเติบโตไม่เต็มศักยภาพที่ประเทศไทยมี โดยถือว่า เติบโตช้ากว่าภูมิภาค และคุณภาพชีวิตของประชาชนยังอยู่ในความเปราะบาง นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ที่ออกแบบมา จึงเป็นการจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปยังทุกที่ ให้หมุนเวียนในเศรษฐกิจไปถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพประชาชน เกิดการจ้างงาน ลงทุน ภาคธุรกิจจะขยายการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น นำไปสู่การจ้างงานสร้างอาชีพ

นี่คือหลักคิดที่วางไว้เบื้องต้น และยังเชื่อมั่นว่าด้วยกลไกของนโยบายจะประสบความสำเร็จที่มองไว้ได้ ในที่สุดรัฐจะได้รับเงินคืนมาในรูปแบบของภาษี ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลและมุ่งสู่ e-government ที่สมบูรณ์แบบในอนาคต

รัฐมนตรีช่วยคลัง ยังย้ำ เงินดิจิทัล ไม่ใช่เป็นการผลิตเงินขึ้นมาใหม่ โดยเงินทุกบาทเป็นไปตามกรอบของกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีการพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ เงินเหล่านี้ไม่มีการปรับเปลี่ยนในมูลค่า เป็นเพียงเงินที่จะใช้ผ่านระบบดิจิทัล ที่จะถูกกำหนดเงื่อนไขในการใช้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

โดยเงื่อนไข เช่น กำหนดให้มีการใช้ครั้งแรกก่อน 6 เดือน กรอบระยะทาง สินค้าและประเภทของบริการที่ห้ามใช้ เป็นต้น นำไปสู่คำตอบที่ว่าทำไมนโนบายนี้จะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านโยบายอื่นๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากเงื่อนไขจะบังคับให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่มากกว่า ไม่สามารถนำไปสู่การออม ชดใช้หนี้สิน หรืออบายมุข

ส่วนที่กังวลถึงการใช้เม็ดเงินมหาศาล ถึง 5.6 หมื่นล้านบาทนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ขณะนี้มีแหล่งเงินให้เลือกมากกว่า 1 ช่องทาง จึงต้องพิจารณาอย่างเหมาะสมที่สุด ขอให้วางใจว่า รัฐบาลยึดมั่นในวินัยการเงินการคลังเต็มที่ ยกตัวอย่างที่ผ่านมา สมัยรัฐบาลเพื่อไทยชำระหนี้ ไอเอ็มเอฟ ก็ยึดมั่นสมดุลการคลัง จนสามารถชำระหนี้ได้ก่อนเวลา มาตรการนี้ก็เช่นกันที่จะใช้ความยึดมั่นในกรอบการบริหารให้ดีที่สุด 

รัฐมนตรีช่วยฯ คลัง ยังยืนยันว่า จะฟังเสียงทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการที่สนับสนุน หรือคัดค้าน ภาคเอกชนที่รอคอยด้วยความหวัง ก็จะนำความเห็นทั้งหมดไปหารือในชั้นคณะอนุกรรมการ โดยมีไทม์ไลน์การทำงานดังต่อไปนี้

วันที่ 12 ตุลาคม มีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนครั้งแรก ถกถึงความจำเป็น ประโยชน์ วัตถุประสงค์ของโครงการ จะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าหลังการประชุม และจะมีการมอบหมายงานให้ทุนส่วนในคณะอนุกรรมกรรมฯ ไปเดินหน้าดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปในด้านต่าง ๆ 

วันที่ 19 ตุลาคม มีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ครั้งที่ 2 เพื่อหาข้อสรุป แนวทาง เพื่อที่จะหาทางนำเสนอต่อชุดใหญ่ต่อไป 

และวันที่ 24 ตุลาคม คาดว่าจะนำเข้าเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ และชุดใหญ่จะมีมติข้อสั่งการอย่างไร เป็นข้อสรุปของคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์