วันพระ-วันธุรกิจ! สายบุญยุคใหม่ดันทัวร์ มูเตลูโตแรง

11 พ.ค. 2568 - 10:06

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชี้ กระแส ‘การทำบุญยุคใหม่’ เปลี่ยนจากวัดสู่หน้าจอ

  • ทำบุญผ่านออนไลน์ สั่งสังฆทาน-ปล่อยปลา-เลี้ยงพระจากมือถือ

  • แนะผู้ประกอบการ ทั้งสังฆภัณฑ์-นำเที่ยว จับจังหวะจัดแพ็คเกจให้เหมาะ ไหว้พระ-ทำบุญ-ในตลาดสายมู

พฤติกรรมทำบุญออนไลน์-ทัวร์สายมูมาแรง ดันธุรกิจปรับตัวรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยกระแส ‘การทำบุญยุคใหม่’ เปลี่ยนจากวัดสู่หน้าจอ สร้างโอกาสใหม่ให้ภาคธุรกิจไทย ทั้งร้านค้าขายสังฆทานออนไลน์ บริการปล่อยสัตว์ และธุรกิจนำเที่ยวที่จัดแพ็กเกจสายบุญ ตอบโจทย์ชาวพุทธยุคใหม่ที่ยังศรัทธาแต่ใช้ชีวิตเร่งรีบ ชี้การปรับตัวนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มรายได้ ยังช่วยกระจายเม็ดเงินสู่ชุมชน และต่อยอดเศรษฐกิจฐานราก 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผย ปัจจุบันประเทศไทยยังคงยึดมั่นในวัฒนธรรมการทำบุญตามหลักพุทธศาสนา โดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา ที่ชาวพุทธนิยมออกไปตักบาตร ไหว้พระ ถวายสังฆทาน หรือเข้าวัดเพื่อทำกิจกรรมบุญต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการทำบุญในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มหันมาใช้บริการ ‘ทำบุญออนไลน์’ กันมากขึ้น 

การทำบุญออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคที่ไม่มีเวลาเดินทางไปวัดด้วยตนเอง โดยสามารถเลือกซื้อชุดสังฆทานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และมีบริการจัดส่งถึงวัด รวมถึงบริการปล่อยปลา บริการเลี้ยงพระ และกิจกรรมทางศาสนาอื่น ๆ ที่สามารถดำเนินการแทนผู้บริจาคได้ครบวงจร ส่งผลให้ร้านค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มขยายตัว

ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2568 พบว่า มีธุรกิจที่จดทะเบียนในหมวด “ร้านขายปลีกสินค้าใหม่อื่น ๆ” อยู่ถึง 2,766 ราย มูลค่าทุนรวม 12,093 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการที่ระบุจำหน่ายสังฆทานโดยเฉพาะจำนวน 23 ราย แม้จะดูเป็นสัดส่วนเล็ก แต่สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการเติบโต หากมีการยกระดับเข้าสู่ระบบธุรกิจที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ 

นอกจากนี้ ธุรกิจนำเที่ยวก็เริ่มจับกระแส ‘สายมู-สายบุญ’ ด้วยการจัดแพ็กเกจทัวร์ไหว้พระ ทำบุญ เสริมดวง ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลต่างๆ กลายเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการ ซึ่งไม่เพียงเพิ่มรายได้โดยตรง แต่ยังช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น ร้านอาหาร โรงแรม และผู้ให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบัน มีธุรกิจจัดนำเที่ยวจดทะเบียนอยู่ถึง 9,919 ราย มูลค่าทุนรวม 35,318 ล้านบาท 

“ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก จัดนำเที่ยว หรือบริการออนไลน์ กำลังเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว ออกแบบสินค้าและบริการให้ตรงกับความเชื่อ ความศรัทธา และพฤติกรรมของลูกค้า ทั้งนี้เพื่อต่อยอดศรัทธาสู่โอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน” อรมน กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์