จับตาส่งออกสินค้าประมงไทย หลังจีนเลิกแบนอาหารทะเลญี่ปุ่น

1 ก.ค. 2568 - 05:17

  • พาณิชย์จับตาสินค้าประมง หลังจีนจ่อปลดล็อกอาหารทะเลญี่ปุ่น

  • หวั่นกระทบส่งออกไทย

  • แนะเร่งปรับกลยุทธ์ รักษาตลาดจีน-รุกตลาดใหม่

จับตาส่งออกสินค้าประมงไทย หลังจีนเลิกแบนอาหารทะเลญี่ปุ่น

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของตลาดอาหารทะเลโลกที่เริ่มฟื้นตัวหลังช่วงวิกฤตโรคระบาดและสงครามการค้า จีนในฐานะผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของโลก กำลังจะเปิดตลาดอีกครั้งให้กับญี่ปุ่น หลังสั่งแบนสินค้านี้มายาวนานเกือบ 2 ปี โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจไม่เพียงสร้างความหวังใหม่ให้กับญี่ปุ่น แต่ยังกลายเป็น ‘ความท้าทายใหม่’ สำหรับผู้ส่งออกไทย ที่มีจีนเป็นตลาดอันดับหนึ่งของสินค้าประมง

สนค.เตือนจับตาใกล้ชิด อาจกระทบส่วนแบ่งตลาดไทย

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยว ญี่ปุ่นและจีนเพิ่งบรรลุข้อตกลงด้านความปลอดภัยอาหารทะเล โดย จีนมีแนวโน้มจะยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ภายหลังการปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

เงื่อนไขการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นกลับเข้าสู่จีน ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนโรงงานแปรรูป และมีใบรับรองปลอดสารกัมมันตรังสี

moc-fishery-products-china-seafood-japan-cancel-ban-SPACEBAR-Photo02.jpg

ที่ผ่านมา จีนถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 10 ของอาหารทะเลจากญี่ปุ่น (มูลค่ากว่า 506 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยสินค้าหลัก ได้แก่ หอยสแกลลอปและปลา ซึ่งตรงกับสินค้าหลักที่ไทยส่งออกเช่นกัน

‘ไทย’ ตลาดส่งออกใหญ่ แต่เริ่มถูกบีบ

จากข้อมูล Trademap.org และ สนค. พบว่า

ปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าประมงไปจีน มูลค่า 363.49 ล้านดอลลาร์ (ราว 12,700 ล้านบาท) คิดเป็น 23.5% ของสินค้าประมงส่งออกทั้งหมดของไทย

ปี 2568 (ช่วง ม.ค.-เม.ย.) ส่งออกไปจีนลดลงแรง 20.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

สินค้าไทยที่ส่งออกไปจีน ได้แก่ กุ้ง (เกือบ 69%), หอยและสัตว์น้ำเปลือกแข็ง, ปลาหมึก และแมงกะพรุน นอกจากนั้นไทยยังอยู่ในอันดับที่ 24 ของผู้ส่งออกประมงโลก (1.1% ของตลาดโลก) แต่เป็นผู้ส่งออกรายสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แนวโน้มตลาดโลก และทางรอดของไทย

ในภาพรวมปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงโลกอยู่ที่ กว่า 136,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ (15.3%), จีน (13%) และญี่ปุ่น (6.9%) โดยจีนยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าประมงอันดับ 2 ของโลก (มูลค่า 17,885 ล้านดอลลาร์) โดยไทยอยู่อันดับที่ 11 ของแหล่งนำเข้า (2.1%)

และเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผอ.สนค. แนะผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัว  ดังนี้
- เร่งปรับมาตรฐานและระบบรับรอง ให้แข่งขันได้กับญี่ปุ่น
- ขยายตลาดใหม่ที่โตเร็ว เช่น สหรัฐฯ (+5.09%), UAE (+28.18%), กัมพูชา (+9.9%), ฟิลิปปินส์ (+8.49%)
- เร่งแก้ปัญหา IUU Fishing และยกระดับมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน
- ใช้โอกาสจาก RCEP และ FTA อื่น ๆ ให้เข้าถึงตลาดใหม่ได้อย่างมีต้นทุนที่แข่งขันได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็นการปลดล็อกตลาดจีนให้ญี่ปุ่น คือสัญญาณเตือนไทย ว่าหากไม่เร่งปรับตัว ทั้งด้านคุณภาพ มาตรฐาน และกลยุทธ์ทางการค้า ไทยอาจสูญเสียตำแหน่งผู้นำในตลาดจีนในเวลาอันสั้น แต่หากคว้าโอกาส ไทยก็จะยังสามารถรักษาความได้เปรียบไว้ได้ในตลาดโลกที่ยังมีช่องว่างมหาศาล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์